ซากดึกดำบรรพ์บรรพบุรุษมนุษย์ในโมร็อกโกเก่าแก่ที่สุด

ซากดึกดำบรรพ์บรรพบุรุษมนุษย์ในโมร็อกโกเก่าแก่ที่สุด


นักบรรพมานุษยวิทยาจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยด้านมานุษยวิทยา ประเทศเยอรมนี เผยถึงการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของบรรพบุรุษมนุษย์ที่รู้จักกันในชื่อโฮโม เซเปียนส์ ขุดพบบนเนินเขาในเขตพื้นที่ชื่อเซเบล อีร์ฮูด ตั้งอยู่ระหว่างเมืองมาร์ราเกชและชายฝั่งทะเลแอตแลนติกของประเทศโมร็อกโก ซากดังกล่าวถูกระบุว่ามีอายุเก่าแก่กว่าซากดึกดำบรรพ์เดิมที่เคยพบถึง 100,000 ปี

จากการตรวจสอบซากของกะโหลก กระดูกขากรรไกรล่าง และฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบอย่างน้อย 5 ราย เป็นผู้ใหญ่ 3 ราย วัยรุ่น 1 ราย และเด็กอายุประมาณ 8 ขวบอีก 1 ราย ทั้งหมดมีอายุราวๆเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว โดยใกล้ๆกันนั้นยังพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ ได้แก่ ละมั่ง ม้าลาย สันนิษฐานว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้ล่ามา รวมทั้งเครื่องมือหินอย่างปลายหอกและมีด ซึ่งเป็นหลักฐานว่าพวกเขาใช้เครื่องมือหินเหล่านี้เพื่อจุดไฟ

การค้นพบซากบรรพบุรุษมนุษย์ครั้งนี้โต้แย้งข้อมูลเดิมๆที่ว่ามนุษย์โฮโม เซเปียนส์กำเนิดใน "สวนแห่งอีเดน" ซึ่งเป็นที่ไหนสักแห่งในแอฟริกาตะวันออก หรือทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา แต่ซากที่พบใหม่นี้ขุดเจอบริเวณตอนเหนือของแอฟริกา นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเมื่อ 300,000 ปีก่อนนั้น โฮโม เซเปียนส์น่าจะมีชีวิตอยู่กระจัดกระจายไปทั่วทวีปแอฟริกา แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันว่าจะพบซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่เหล่านี้ในโมร็อกโก และเมื่อพิจารณาที่ตั้งของซากมนุษย์ยุคแรกๆ พวกเขาสรุปได้ว่ารูปแบบและอายุของซากดังกล่าวมีความลึกลับ ซึ่งการค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นรูปร่างของใบหน้าและฟันของโฮโม เซเปียนส์ ที่มีลักษณะไม่ต่างไปจากมนุษย์ในยุคปัจจุบันเลย.


ที่มา : www.thairath.co.th

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์