นายกฯ ลั่น 1 ปีที่เหลือ รบ.เร่งตั้งแท่งปฏิรูปการศึกษาให้ชัดเจน

นายกฯ ลั่น 1 ปีที่เหลือ รบ.เร่งตั้งแท่งปฏิรูปการศึกษาให้ชัดเจน


นายกฯ ลั่น 1 ปี ตั้งโครงปฏิรูปการศึกษาให้ชัด เร่งแก้ปัญหาสาหัสก่อน เล็งใช้ระบบไอทีออกบัตรนักเรียน ตรวจสอบการใช้งบให้ตรงเป้า หวั่นปฏิรูปสะดุด วอนคนไทยปรับหลักคิดลดขัดแย้ง เปรียบประชุม-เลือกตั้งต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ ตามระบบประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวระหว่างการเป็นประธานการหารือคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ว่า เป็นการคุยเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะปรับระบบการศึกษาของไทย ให้เข้ารูปเข้ารอย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งส่วนตัวได้ศึกษาในทุกเรื่อง ว่าเราจะทำยังไงที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการประสานสอดคล้อง และเบื้องต้นได้อ่านข้อมูลมาแล้ว มีความพอใจว่าทุกอย่างได้ครอบคลุม ซึ่งในส่วนคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องทำงานให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปการศึกษาของกระทรวง โดยจะต้องนำข้อมูลจากทุกส่วนเข้ามาพิจารณา ซึ่งเป็นหลักสำคัญ ของการทำงานที่จะต้องกว้างขวาง รอบคอบ และนำไปสู่การใช้ได้จริง ไม่ใช่แต่เพียงแค่พูดหลักการ พูดนามธรรมไปทุกเรื่อง เพราะเวลาเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานของพวกเรา ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์ ไม่มีใครขัดแย้งกัน เพราะวันนี้ปัญหาของการปฏิรูปคือการขัดแย้งไปหมดทุกเรื่อง แล้วจะปฏิรูปได้อย่างไร จึงต้องหาวิธีการเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ อะไรทำได้ทำ อะไรทำไม่ได้ต้องหารือกันต่อไป ซึ่งการศึกษาไม่สามารถที่จะแก้ได้รวดเร็วมากนัก เพราะไม่มีให้ความสำคัญในเรื่องนี้มานานมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์กรหรือกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนได้นำคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทั้ง 2 ชุด มาหารือร่วมกัน เพื่อทำงานคู่ขนานและประสานงานให้สอดคล้อง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ตนจำเป็นต้องเร่งรัดให้ดำเนินการปฏิรูปให้เห็นความชัดเจนเกิดขึ้นให้ได้ ทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและประเด็นปัญหาในระบบการศึกษาที่มีหลายเรื่อง ทั้งการผลิตครู การเรียนการสอน การสอบ และการประเมินผล การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งวันนี้การสอนไม่ใช่ให้รู้แต่วิชาการอย่างเดียว แต่จะต้องคิดวิเคราะห์เป็น สามารถเป็นนักวิจัยและพัฒนาได้ในอนาคต ซึ่งต้องเรียนรู้ขั้นพื้นฐานตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ก่อนจะมาเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ และต้องคำนึงถึงระบบการศึกษานอกโรงเรียนด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะต้องดูให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้รู้ว่างบประมาณที่ใช้ไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาตรงเป้าหมายหรือไม่ และใช้ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณของครูหรือนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องบัตรประจำตัวนักเรียน อาจจะต้องมีการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย เพื่อตรวจสอบให้ได้ว่างบประมาณที่ลงไปถูกต้องใช้ตามเป้าหมายหรือไม่ หากไม่ใช้ระบบไอทีจะทำให้ติดตามยาก เพราะเด็กนักเรียนจะย้ายสถานที่เรียน ขณะที่โรงเรียนเดิมยังไม่จำหน่ายตัวนักเรียน ให้ยังสามารถเบิกงบประมาณไปใช้ได้อยู่ ซึ่งต้องทำงานลงรายละเอียดให้มากขึ้น

"ผมให้แนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไปแล้วว่า 1 ปี ที่เหลืออยู่ของรัฐบาลนี้ จะพยายามทำในส่วนที่เป็นโครงสร้าง และเริ่มแก้ปัญหาที่สาหัสก่อนให้ได้โดยเร็ว ส่วนที่เหลือหายังทำไม่ได้ ให้วางไว้ในแผนแม่บทของระบบการศึกษาในทุก 5 ปี ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่วางแนวทางไว้เพื่อตอบคำถามที่เป็นประเด็นได้ ดังนั้นการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลกับใครเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกัน อย่างเดิมที่ใช้คำว่าบ้าน วัด โรงเรียน และต้องนำศาสตร์พระราชามาขับเคลื่อนให้ได้ สิ่งสำคัญวันนี้จะต้องพัฒนาคนไปสู่อนาคต ถ้ายังคิดแบบเดิมคงไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนแล้วเราจะไม่เปลี่ยนเลยเหรอ การปฏิรูปต่างๆ จะทำได้หรือไม่อยู่ตรงนี้ หลักคิดต้องไปด้วยกันให้ได้ ถ้าไปด้วยกันไม่ได้ก็ขัดแย้งกันทุกเรื่อง จะทำอะไรไม่ได้เลย และปฏิรูปไม่ได้ เพราะทุกคนมีความเห็นส่วนตัวหมด ทุกคนตกลงด้วยความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ นั่นคือประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ถ้าที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบก็ต้องเห็นชอบตาม เพราะเป็นการประชุมหรือการเลือกตั้งอะไรก็แล้วแต่ แต่จะต้องไม่มีกระบวนการที่ทำให้ไม่ถูกต้อง จนกระทั่งได้มาซึ่งความไม่ชอบธรรม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงปัญหาการรับน้องที่รุนแรง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นปัญหาในระบบต้องไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์