Beyond Schooling ทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต


Beyond Schooling  ทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต

กลับมาอีกครั้งกับคอลัมน์ทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตกับ Starfish Labz และในบทความนี้ อีกหนึ่งทิศทางที่มีความน่าสนใจ มีความสำคัญ และเป็นทิศทางที่ Starfish Labz เชื่อว่าจะต้องมีโอกาสได้รับการพัฒนาในอนาคตแน่ๆ ก็คือ Beyond Schooling หรือรูปแบบการศึกษาที่เรียกว่าไปไกลกว่าแค่ในห้องเรียนหรือโรงเรียนนั่นเองค่ะ

คุณครูและผู้ปกครองหลายๆ คนอาจคุ้นๆ กับคำว่า Beyond Schooling กันแล้ว แต่เชื่อว่าอีกหลายคนก็อาจจะยังไม่คุ้นมากนัก

Beyond Schooling คืออะไร จะมีประโยชน์อย่างไรกับเด็กๆ ไทยได้บ้าง มาหาคำตอบร่วมกันในบทความนี้กันเลยค่ะ

Beyond Schooling คืออะไร? เมื่อการศึกษาสามารถไปไกลได้กว่าแค่ในห้องเรียน

สำหรับคุณครูและผู้ปกครองหลายๆ คนที่คุ้นเคยกับแนวคิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เคยสัมผัสหรือเคยเรียนรู้การเรียนรู้แบบ Home Schooling โมเดล Beyond Schooling คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่มากเท่าไหร่

Beyond Schooling นิยามอย่างแสนเรียบง่ายที่สุดก็คือ การเรียนรู้ที่ไกลไปกว่าแค่ในห้องเรียน ในโรงเรียน ในสถาบัน หรือในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และเจ้า Home Schooling หรือการเรียนการสอนที่บ้านที่ใครหลายๆ คนคุ้นเคยก็คือหนึ่งในรูปแบบการศึกษาที่มาจากแนวคิด Beyond Schooling นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็น Home Schooling แบบจริงจังหรือการเรียนการสอนเสริมเพิ่มเติมแบบง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มักทำให้ลูกที่บ้าน กิจกรรมเหล่านี้ก็ล้วนถือเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบ Beyond Schooling หรือในรูปแบบที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน แต่ยังรวมถึงที่บ้าน ขยายขอบเขตออกไปถึงในทุกๆ จังหวะการใช้ชีวิตของเด็กๆ

ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในวิชาที่ยากๆ วิชาที่จริงจัง หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อื่น ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบวิชาการเสมอไป สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ Beyond Schooling ส่งเสริม ในแง่นี้ Beyond Schooling ก็คือการเรียนรู้แบบใหม่หรือการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ในรูปแบบใหม่ๆ เข้าใจว่าโรงเรียนคือพื้นที่ของการเรียนรู้ที่มีคุณค่า แต่ในขณะเดียวกันความรู้ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่ที่โรงเรียนเสมอไปนั่นเองค่ะ

ทิศทางการเติบโตของ Beyond Schooling ของประเทศไทย ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเรียนรู้

เราเข้าใจกันแล้วว่า Beyond Schooling คือการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าแค่ในห้องเรียน แต่ไกลที่ว่าในประเทศไทยคือไกลแค่ไหน เรามีแนวโน้มหรือทิศทางการพัฒนาแนวคิดการศึกษาไทยในอนาคตนี้อย่างไรบ้าง

คำตอบซึ่งกล่าวได้ว่าชวนให้มีความหวังอย่างมากก็คือในปัจจุบัน สำหรับทิศทางการพัฒนา Beyond Schooling ในประเทศไทย นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่บ้านแล้ว เรายังเริ่มมีการพูดคุยและขยับขยายแนวคิดให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนอีกด้วยค่ะการร่วมมือดังกล่าวที่ว่านี้ก็คือการเล็งเห็นถึงโอกาสที่เราสามารถทำให้ Beyond Schooling กลายเป็นรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ที่มีความจริงๆ จังๆ ขึ้นมา เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งหรือผสมผสานอยู่กับการเรียนรู้ในโรงเรียนหรือในสถาบันการเรียนได้ ตัวอย่างง่ายๆ ของการรร่วมมือดังกล่าว เช่น การผนวกเอาเครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา หรือ EdTech ของภาคเอกชนมาใช้ในโรงเรียน การเลือก EdTech ที่สนับสนุนให้เด็กๆ สามารถเชื่อมต่อและขยายขอบเขตการเรียนรู้ของเขาได้นอกเหนือไปจากแค่ในรั้วโรงเรียน

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนในต่างประเทศคือ Khan Academy หรือเว็บไซต์แพลตฟอร์มการเรียนรู้ของภาคเอกชนที่เต็มไปด้วยหลักสูตรการเรียนรู้เหมือนกับในระบบการศึกษาที่สถาบันการศึกษาและคุณครูสามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือผนวกเนื้อหาที่มีประโยชน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ได้ ส่วนในประเทศเรา แพลตฟอร์มที่คล้ายๆ กันก็คือ Starfish Labz ที่ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยการเรียนรู้ของเด็กๆ และคุณครูยุคใหม่ของประเทศไทยในปัจจุบัน

เรียนรู้ตามหลักสูตรเฉยๆ หรือจะเปลี่ยนขั้วเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ส่องหัวใจสำคัญของ Beyond Schooling

หัวใจสำคัญของ Beyond Schooling จริงๆ แล้วก็คือการกลับมาที่การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระภายในตัวของเด็กๆ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าการเรียนรู้คือส่วนหนึ่งในการเติบโตของเขาและไม่ได้จำกัดว่าต้องเกิดและจบในห้องเรียนหรือในรั้วโรงเรียนเสมอไป

ทุกๆ จังหวะของการใช้ชีวิตและการดำรงอยู่คือโอกาสในการเรียนรู้ และบางที แหล่งเรียนรู้เดียวก็ไม่พอเสมอไป คุณประโยชน์สำคัญของ Beyond Schooling จึงไม่ใช่แค่การขยายขอบเขตการเรียนรู้เฉยๆ แต่นัยหนึ่งยังเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กลับมาที่การให้ความเป็นอิสระกับเด็กๆ ส่งเสริมทักษะการนำตัวเอง (Self-Direction), การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking), ความรับผิดชอบตัวเอง (Responsibility) และยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน (Sustainability) ช่วยสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในระยะยาว (Lifelong Learning) นั่นเอง

การผลักดันให้เกิดการเรียนรู้แบบ Beyond Schooling จึงถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจที่สำคัญมากๆ ในการพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคตให้ดีกว่าเก่า และแม้จะชื่อว่า Beyond Schooling แต่อย่างที่ได้อธิบายไปว่าตัวโมเดลไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าหรือการมีอยู่ของสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด กลับกัน Beyond Schooling เปรียบเสมือนอีกหนึ่งปัจจัยเสริมที่สามารถช่วยเติมเต็มความต้องการการเรียนรู้ของเด็กๆ ช่วยพัฒนาเขาให้มีความพร้อมในหลากหลายทักษะ สร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเรียนรู้ และแน่นอนว่าหากหยิบจับเครื่องมือที่ใช่มาใช้แล้ว ยังสามารถช่วยลดภาระการสอนของคุณครูและเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างดีอีกด้วยค่ะ

และนี่ก็เป็นการบทสรุปอย่างกระชับของการจัดการเรียนรู้แนวใหม่อย่าง Beyond Schooling ที่วันนี้ Starfish Labz ได้นำมาฝากคุณครู สถาบันการศึกษา และคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองทุกคนกันค่ะ ฟังดูแรกๆ อาจดูเหมือนยาก แต่ในความเป็นจริงไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ หัวใจสำคัญก็คือการขยายขอบเขตการเรียนรู้ให้ไปไกลกว่าแค่ในห้องเรียน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าของการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา ส่งเสริมการผสมผสาน สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเรียนรู้นั่นเอง

เครดิตแหล่งข้อมูล :starfishlabz


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์