‘ครูนอนเวร’ ความปลอดภัยใคร(ไม่รู้) ความเสี่ยงครู(แน่นอน)


‘ครูนอนเวร’  ความปลอดภัยใคร(ไม่รู้) ความเสี่ยงครู(แน่นอน)

หน้าที่ของครูนอกจากต้องสอนหนังสือแล้ว ครูผู้ชายยังมีอีกหน้าที่ประจำ คือ ‘การนอนเวร' เพื่อคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยให้โรงเรียนในยามค่ำคืน ซึ่งในกรณีของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูผู้ชายจำนวนมาก คงไม่เป็นปัญหาเท่าใดนัก หากต้องหมุนเวียนกันมานอนเวรเฉลี่ยเดือนละครั้ง แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูผู้ชายน้อยจนต้องผลัดเปลี่ยนกันมานอนแทบทุกสัปดาห์ ก็อาจจะไม่เป็นผลดี แถมหากมีอุบัติเหตุหรือการก่ออาชญากรรมขึ้นจริง นอกจากครูจะสู้ไม่ไหว ยังเป็นภัยความเสี่ยงต่อตัวครูด้วย

สารพัดปัญหาและข้อสงสัยที่ชวนให้ I AM KRU. เปิดวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณครูผู้ผ่านประสบการณ์นอนเวร 3 ท่าน ได้แก่ ครูร่มเกล้า ช้างน้อย จากโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ครูสุพศิน เงินส่ง จากโรงเรียนวัดประตูใหญ่ จ.สุราษฎร์ธานี และ ครูรัตนชาติ สาระโป จากโรงเรียนบ้านเเม่งอนขี้เหล็ก จ.เชียงใหม่ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และร่วมตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วหน้าที่เฝ้ายามโรงเรียนควรเป็นของครูจริงหรือ?

เปิดประสบการณ์ ‘การนอนเวร'
การต้องนอนในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตนเอง นอกจากไม่สะดวกสบายแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึก ‘หวาดกลัว'

ครูสุพศิน เงินส่ง หรือ ครูเจมส์ จากโรงเรียนวัดประตูใหญ่ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า ประสบการณ์การนอนเวรครั้งแรกยอมรับว่าเหมือนหลายๆ คน ที่ไม่กล้านอน คือกลัวตั้งแต่โจรไปยันผี บรรยากาศก็วังเวง ต้องนอนคนเดียว ไม่รู้ว่าโจรจะมีไหม แต่สุดท้ายต่อให้กลัวก็ต้องนอน เพราะเป็นระเบียบที่ครูต้องทำ ถามว่าทุกวันนี้นอนได้ไหม ก็นอนได้ แต่ยังกลัวอยู่ เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้วัด ตีสอง ตีสาม หมาหอน กลัวผีมากกว่ากลัวโจร (หัวเราะ) แล้วก็ด้วยโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีห้องสำหรับนอนเวรโดยเฉพาะ ก็ต้องอาศัยว่าครูท่านไหนอยู่ห้องปฏิบัติการ ก็ไปขอห้องปฏิบัติการเขาในการนอนพัก

เช่นเดียวกับ ครูร่มเกล้า ช้างน้อย หรือ ครูกั๊ก จากโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่บอกว่า ความรู้สึกของการนอนเวรครั้งแรก คือ ‘ความกลัว'

"คืนแรกของการนอนเวรรู้สึกว่าน่ากลัว เพราะขึ้นชื่อว่าโรงเรียนมัธยมวัด ซึ่งอยู่ใกล้วัด ก็กลัวผี แล้วสภาพห้องนอนเวรคือทรุดโทรมมาก สภาพห้องแย่มาก ที่นอนก็อมฝุ่น แล้วเราก็เคยดูหนังผี แอร์ก็พร้อมเป็นที่นั่งผี มีโต๊ะเครื่องแป้งอีก แค่เห็นหน้าเราในกระจกก็กลัวแล้ว แถมประตูก็มีรู ก็ยิ่งน่ากลัว"


ครูร่มเกล้า ช้างน้อย โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ ภาพจาก Live Facebook "ครูนอนเวร" หน้าที่นอนเวรเป็นหน้าที่ของครู หรือ เป็นของใคร โดย I AM KRU.

สุขภาพเสียทั้งกาย-ใจ ผลกระทบครูนอนเวร
แม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการสอนมาทั้งวันแล้ว ครูนอนเวรยังต้องรับหน้าที่เฝ้ายามกะดึก ทำให้ได้นอนบ้าง ไม่ได้นอนบ้าง เมื่อร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สืบเนื่องไปถึงประสิทธิภาพการสอน รวมทั้งยังมีผลต่อสภาพจิตใจด้วย

ครูร่มเกล้า เล่าว่า การนอนเวรส่งผลเสียอย่างมาก อันดับแรก เราเป็นคนนอนยาก ทำให้นอนไม่พอ เวลาง่วงมากก็ไม่มีพลังงานในการสอน สองคือถ้าช่วงที่แม่บ้านไม่อยู่ ห้องพักไม่ได้ทำความสะอาด ก็จะมีฝุ่นเยอะมาก ทำให้เราแพ้ไรฝุ่น สามคือถ้าแอร์เสียก็จะร้อนมาก แล้วเราเป็นคนแพ้เหงื่อตัวเอง ก็ทำให้เป็นผื่น และสุดท้ายคือสภาพจิตใจ ความกลัวทั้งแมลง โจร และสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้เครียดหรือกังวลใจ

ไม่ต่างจากครูรัตนชาติ สาระโป หรือ ครูก็อต จากโรงเรียนบ้านเเม่งอนขี้เหล็ก จ.เชียงใหม่ เล่าว่า การนอนเวรส่งผลต่อจิตใจบ้าง เพราะแทนที่เลิกงานแล้วจะได้พักผ่อน หรือได้ทำในสิ่งที่อยากทำก็ไม่ได้ทำ

อีกปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับครูหลายคน คือ ‘เวลาของครอบครัวที่หายไป'

ครูสุพศิน เล่าว่า มีครูหลายท่านที่เขามีครอบครัว ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น บางคนมีลูกเล็ก จะทิ้งเวรก็ไม่ได้ ก็ใช้วิธีจ้างครูคนอื่นมาอยู่แทน แต่ทำบ่อยๆ ก็ไม่ไหว เพราะต้องใช้เงิน การนอนเวรหากเป็นโรงเรียนใหญ่ที่มีครูผู้ชายหลายคน อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เวียนกันมานอนเดือนละ 1 ครั้ง แต่กับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ตามชนบท ถ้ามีครูผู้ชายแค่ 2 คน จะทำอย่างไร เวลาของครอบครัวก็หายไปแล้ว

‘นอนเวร' ความปลอดภัยโรงเรียน ความเสี่ยงครู
แม้การนอนเวรจะเป็นระเบียบราชการ แต่การอยู่โรงเรียนคนเดียวในยามวิกาล ในแง่หนึ่งก็เป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของครู

ครูสุพศิน เล่าว่าโรงเรียนให้ความสำคัญและกำชับเรื่องการอยู่เวรอย่างมาก เพราะเคยเกิดเหตุฆาตกรรมในโรงเรียนมาก่อน ครั้งนั้นมีครูเวรผู้หญิงมาอยู่โรงเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เผื่อว่ามีใครมาติดต่อราชการ แล้วด้านนอกก็เกิดเหตุการณ์ทะเลาะกัน เขาก็ขับรถตามกันมาในโรงเรียน และเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ครูเวรก็ลำบากเหมือนกัน แต่ถามว่าต่อให้เฝ้าเวรทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วมีเหตุการณ์เช่นนี้อีก ครูเวรก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่คิดว่าอย่างน้อยการที่มีครูเวรอยู่ก็ช่วยติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่ได้


ครูสุพศิน เงินส่ง โรงเรียนวัดประตูใหญ่

ขณะที่ ครูร่มเกล้า ร่วมแชร์ประสบการณ์ ว่าครั้งหนึ่งการนอนเวรเกือบทำให้เขาต้องอยู่ในกองเพลิง

"มีคืนหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เต้าเสียบ แล้วไฟก็ไหม้ลามไปตามสายไฟ ซึ่งถ้าไล่จนครบ จะเข้าไปไหม้ในห้องเก็บไม้กวาด ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเลย แล้วห้องนอนเวรผมอยู่ด้านบนนั้นเลย แต่โชคดีว่าวันนั้นหนีไปนอนที่ห้องประชาสัมพันธ์ เพราะห้องนอนเวรจะเก่ามาก ปกติก็จะไปหนีไปนอนห้องอื่นๆ ซึ่งถ้าหากวันนั้นไฟลุกลามหนัก และผมนอนที่นั่น คนที่ตายคือผมเอง ซึ่งผมนึกย้อนไปถึงศึกษานิเทศท่านหนึ่ง เคยบอกว่า จริงๆ แล้วการอยู่เวร รับผิดชอบการอยู่ ไม่ได้รับผิดชอบเหตุ หมายความว่าถ้าเราไม่อยู่ เราผิด แต่หากเกิดเหตุ จะเหตุอะไรก็ได้ เราไม่ผิด ขอแค่เราอยู่ จริงๆ ก็ถูกต้องทุกอย่าง แต่ถ้ามองในมุมของความปลอดภัยของครู ไม่ได้เลย"

นอนเวร' หน้าที่ครูหรือหน้าที่ใคร?
ด้วยภาระในการเรียนการสอนที่มีมหาศาล ประกอบกับความปลอดภัยของครูในยามวิกาล จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า การนอนเวรยังจำเป็นอยู่ไหม หรือจะมีทางออกใดให้แก่คุณครู?

ครูสุพศิน บอกว่า ส่วนตัวมองว่าการนอนเวรยังเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังมีคนช่วยประสานงานแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้มีการปรับเปลี่ยนการนอนเวรให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น

"โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่มีงบจ้างใครมาช่วยเฝ้าเวรได้ ภาระหนักจะมาตกที่ครู แนวทางการเข้าเวรสำหรับผม ถ้ายกเลิกไม่ได้ ก็ควรปรับให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่มีทั้งกล้องวงจรปิด กล้องอินฟาเรด ภาครัฐอาจจะสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนติดตั้งกล้องวงจรปิด ครูไม่ต้องนอนก็ได้ ใช้วิธีแวะเวียนเข้ามาดู หรือผลัดกันเข้าไปตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันของกล้องวงจรปิดแทน

แต่ถ้าหากภาครัฐมีงบสนับสนุน และสามารถจัดสรรงบเพื่อจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยโรงเรียนได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงครูได้มาก เพราะอย่างที่ครูหลายท่านบอก เราไม่ได้เรียนมาเพื่อต่อสู้ เราศึกษามาเพื่อเป็นครู"

ด้าน ครูรัตนชาติ บอกว่า สำหรับโรงเรียนเรา ด้วยความอยู่ใกล้ชุมชน การมีครูมาเฝ้าเวร หรือนอนเวร ในมุมหนึ่งทำให้ผู้ปกครองรู้สึกมั่นใจ ชาวบ้านมองว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสร้างความอุ่นใจของชุมชน แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการนอนเวรก็ส่งผลให้ครูส่วนใหญ่เกิดความเครียด ทางออกที่ดีที่สุดเช่น ‘การจัดเวลาช่วยกันตรวจตราโรงเรียน' แทนการนอนเวร รวมถึง ‘ดึงหน่วยงานอื่นๆ' ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียนมากขึ้น


ครูรัตนชาติ สาระโป โรงเรียนบ้านเเม่งอนขี้เหล็ก

"หากยกเลิกการนอนเวรไม่ได้ อยากให้มีการลดเวลา เช่น เปลี่ยนจากการให้ครูนอนเวรเป็นแวะเวียนมาตรวจเป็นช่วงเวลา เช่น ที่โรงเรียนจะให้ครูมาตรวจและรายงานในช่วงเวลา 20.00-21.00 น. และในช่วงเวลา 02.00-03.00 จะมีลุงยามที่อยู่ใกล้โรงเรียนมาตรวจอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ก็เห็นด้วยกับแนวคิดของเพจครูหมีมั่วซั่วที่เคยแชร์ว่า โรงเรียนอาจจะใช้วิธีการ MOU กับ อพปร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ของหมู่บ้าน ให้มาช่วยดูแลความปลอดภัยของโรงเรียน ซึ่งนอกจากแบ่งเบาภาระของครูแล้ว ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับชาวบ้านได้มากขึ้น"

สำหรับ ครูร่มเกล้า ทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยอย่างมากกับแนวทางการประสานงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งหากทำไม่ได้ แนวทางรองลงมามองไปที่ภาครัฐควรมีการจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยมีงบสนับสนุนการจ้างเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรตรวจความปลอดภัยให้แก่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ หรือแนวทางสุดท้ายคือการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ทุกโรงเรียน เพื่อลดภาระหน้าที่ครู ช่วยให้ครูสมกับเป็นครูที่มีเป้าหมายหน้าที่หลักในเรื่องการจัดการศึกษา

ทั้งหมดนี้คือเรื่องเล่าหลากหลายประสบการณ์ของครูนอนเวร ที่สะท้อนถึงความยากลำบากและภาระหน้าที่ที่เกินบทบาทความเป็นครู ขณะเดียวกันก็เป็นการร่วมกันหาทางออกของการนอนเวร เพื่อคืนเวลาให้ครูนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ให้กับเด็ก



เครดิตแหล่งข้อมูล :
thepotential


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์