เปิดข้อกฎหมาย-ระเบียบ ศธ. ยันชัด โรงเรียนต้องรับ หยกเข้าเรียน


เปิดข้อกฎหมาย-ระเบียบ ศธ. ยันชัด โรงเรียนต้องรับ หยกเข้าเรียน


วันที่ 20 มิ.ย.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความคิดเห็น กรณี หยก เยาวชนวัย 15 ปี ความว่า

หยกและเด็กทุกคนต้องได้เรียน โรงเรียนมีหน้าที่รับนักเรียนเข้าเรียน แม้ไม่มีผู้ปกครองก็ได้เรียน กรอกข้อมูลนักเรียนเข้าระบบหลัง 10 มิถุนายนก็สามารถทำได้

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน "หยก" เด็กนักเรียนวัย 15 ปี เขียนในเฟซบุ๊กว่า ทางโรงเรียนเรียกตัวเข้าไปคุย และรองผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้หญิง บอกว่า จะคืนค่าเทอมให้ แต่หยกต้องออกจากโรงเรียน

วันรุ่งขึ้นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกประกาศชี้แจงในเรื่องนี้ว่า หยกเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานตัวหยกไว้ก่อน และอนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนไว้ก่อนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แต่ต้องนำผู้ปกครองคือมารดา มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ ภายในวันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ




แต่หยกไม่ได้นำผู้ปกครองมาดำเนินการภายในเวลากำหนด ทำให้หยกไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ ทั้งหลังจากที่หยกเข้ามาเรียนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ทางโรงเรียนได้ชี้แจงให้นักเรียนรับทราบระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน แต่หยกไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่สวมชุดนักเรียน ทำสีผม ไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง

ในวันต่อๆมาหยกเดินทางไปโรงเรียนและพยายามเข้าห้องเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปีนรั้วเข้าไป ซึ่งทางโรงเรียนมีท่าทีปฏิเสธการรับหยกเข้าเรียน

ทิชา ณ นคร นักพัฒนาการเด็ก ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งดูแลเด็กที่ถูกต้องกักและต้องขัง กล่าวว่า เมื่อประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกจะเปิดทันที

นโยบายของรัฐเองก็เห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษา ที่จะสร้างอนาคตให้กับเด็กทุกคนและเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต จึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งคำสั่งนี้เป็นผลทางกฎหมายสูงสุดเหนือแม้กระทั่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการยกเลิกประกาศฉบับนี้




เปิดข้อกฎหมาย-ระเบียบ ศธ. ยันชัด โรงเรียนต้องรับ หยกเข้าเรียน


ประกาศ คสช. ระบุชัดว่าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี หมายถึง การศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา(อนุบาล 1-3) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเมื่อถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กส่วนมากจะมีอายุ 18 ปีพอดี

นั่นหมายความว่าบังคับให้เด็กทุกคน ซึ่งเด็กหมายถึงผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา ต้องได้รับการศึกษาอย่างน้อยที่สุดคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายฟรี 5 อย่างคือ ค่าจัดการเรียนการสอน, ค่าหนังสือ, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

กระทรวงศึกษาธิการเอง ก็มีระเบียบรองรับในการให้เด็กทุกคนต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 โดยมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 รองรับและระบุให้รับเด็กทุกคนเข้าเรียนรวมทั้งจัดเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้นักเรียนทุกคน

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ สถานศึกษามีหน้าที่ที่จะต้องรับเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ถ้าไม่รับเด็กเข้าเรียนจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ถ้าเป็นเด็กนักเรียนที่เคยเรียนมาก่อนไม่ต้องเรียกหลักฐานเพิ่มเติม แต่ถ้าไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้เรียกหลักฐานข้อมูลเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในระบบการศึกษา


เปิดข้อกฎหมาย-ระเบียบ ศธ. ยันชัด โรงเรียนต้องรับ หยกเข้าเรียน


ถ้าไม่มีหลักฐานเลย เช่น ไม่มีสูติบัตร ไม่มีบิดามารดา ไม่มีผู้ปกครองหรือองค์กรเอกชนให้ข้อมูล ก็ให้ครูซักถามประวัติผู้มาสมัครเรียนหรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลแนบท้ายระเบียบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางการศึกษา

จะเห็นว่าถ้าเป็นนักเรียนเก่าก็ไม่ต้องเรียกหลักฐานเพิ่มเติมเลย หากเป็นนักเรียนใหม่แม้ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองมา ครูก็มีหน้าที่กรอกเอกสารนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการรับนักเรียนเข้าเรียน

ส่วนการกรอกยืนยันข้อมูลนักเรียนเข้าระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ก็เพื่อให้กระทรวงทราบจำนวนนักเรียนในแต่ละโรงเรียนเพื่อจัดสรรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายรายหัวมาให้ ซึ่งสามารถกรอกข้อมูลเพิ่มเติมแก้ไขให้ถูกต้องกับความเป็นจริงได้ตลอดเวลา

เพียงแต่ข้อมูลภายในวันที่ 10 มิถุนายนของแต่ละปี จะใช้เพื่อจัดสรรงบรายหัวของเทอมการศึกษาที่ 1 มาให้ โรงเรียนสามารถกรอกข้อมูลหลังวันที่ 10 มิถุนายนได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะจัดงบรายหัวมาให้ในรอบเทอมการศึกษาที่ 2

ดังนั้นวันที่ 10 มิถุนายนไม่เกี่ยวกับกำหนดขีดเส้นในการรับเด็ก เพราะสามารถรับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้ตลอดหรือเรียกว่าเข้าระหว่างเทอมหรือภาคการศึกษา การกำหนดวันที่ 10 เป็นเรื่องของการที่จะได้รับเงินอุดหนุนเร็วช้าต่างกันเท่านั้น ซึ่งแม้รับเด็กเข้ามาเรียนแล้วแต่เงินอุดหนุนรายหัวยังไม่มา โรงเรียนทั่วไปก็สามารถจัดการถั่วเฉลี่ยและบริหารจัดการได้เป็นปกติอยู่แล้ว




หากเด็กนักเรียนกระทำความผิด ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยกำหนดโทษแก่นักเรียนนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถานดังนี้ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน, ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

รวมทั้งห้ามลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท

ดังนั้นจากกรณีของ หยก โรงเรียนมีหน้าที่ต้องรับเข้าเรียน แม้ไม่มีผู้ปกครองก็ต้องรับเข้าเรียน สามารถส่งข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบของกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วยโรงเรียนเอง ส่วนถ้านักเรียนกระทำความผิดก็มีระเบียบในการลงโทษให้ปฏิบัติอยู่แล้ว

กระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนสีขาว เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน และต้องไม่มีเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์