เปิดข้อกฎหมาย-ระเบียบ ศธ. ยันชัด โรงเรียนต้องรับ หยกเข้าเรียน
หยกและเด็กทุกคนต้องได้เรียน โรงเรียนมีหน้าที่รับนักเรียนเข้าเรียน แม้ไม่มีผู้ปกครองก็ได้เรียน กรอกข้อมูลนักเรียนเข้าระบบหลัง 10 มิถุนายนก็สามารถทำได้
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน "หยก" เด็กนักเรียนวัย 15 ปี เขียนในเฟซบุ๊กว่า ทางโรงเรียนเรียกตัวเข้าไปคุย และรองผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้หญิง บอกว่า จะคืนค่าเทอมให้ แต่หยกต้องออกจากโรงเรียน
วันรุ่งขึ้นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกประกาศชี้แจงในเรื่องนี้ว่า หยกเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานตัวหยกไว้ก่อน และอนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนไว้ก่อนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แต่ต้องนำผู้ปกครองคือมารดา มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ ภายในวันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ
ในวันต่อๆมาหยกเดินทางไปโรงเรียนและพยายามเข้าห้องเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปีนรั้วเข้าไป ซึ่งทางโรงเรียนมีท่าทีปฏิเสธการรับหยกเข้าเรียน
ทิชา ณ นคร นักพัฒนาการเด็ก ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งดูแลเด็กที่ถูกต้องกักและต้องขัง กล่าวว่า เมื่อประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกจะเปิดทันที
นโยบายของรัฐเองก็เห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษา ที่จะสร้างอนาคตให้กับเด็กทุกคนและเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต จึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งคำสั่งนี้เป็นผลทางกฎหมายสูงสุดเหนือแม้กระทั่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการยกเลิกประกาศฉบับนี้
นั่นหมายความว่าบังคับให้เด็กทุกคน ซึ่งเด็กหมายถึงผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา ต้องได้รับการศึกษาอย่างน้อยที่สุดคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายฟรี 5 อย่างคือ ค่าจัดการเรียนการสอน, ค่าหนังสือ, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
กระทรวงศึกษาธิการเอง ก็มีระเบียบรองรับในการให้เด็กทุกคนต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 โดยมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 รองรับและระบุให้รับเด็กทุกคนเข้าเรียนรวมทั้งจัดเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้นักเรียนทุกคน
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ สถานศึกษามีหน้าที่ที่จะต้องรับเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ถ้าไม่รับเด็กเข้าเรียนจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ถ้าเป็นเด็กนักเรียนที่เคยเรียนมาก่อนไม่ต้องเรียกหลักฐานเพิ่มเติม แต่ถ้าไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้เรียกหลักฐานข้อมูลเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในระบบการศึกษา
จะเห็นว่าถ้าเป็นนักเรียนเก่าก็ไม่ต้องเรียกหลักฐานเพิ่มเติมเลย หากเป็นนักเรียนใหม่แม้ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองมา ครูก็มีหน้าที่กรอกเอกสารนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการรับนักเรียนเข้าเรียน
ส่วนการกรอกยืนยันข้อมูลนักเรียนเข้าระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ก็เพื่อให้กระทรวงทราบจำนวนนักเรียนในแต่ละโรงเรียนเพื่อจัดสรรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายรายหัวมาให้ ซึ่งสามารถกรอกข้อมูลเพิ่มเติมแก้ไขให้ถูกต้องกับความเป็นจริงได้ตลอดเวลา
เพียงแต่ข้อมูลภายในวันที่ 10 มิถุนายนของแต่ละปี จะใช้เพื่อจัดสรรงบรายหัวของเทอมการศึกษาที่ 1 มาให้ โรงเรียนสามารถกรอกข้อมูลหลังวันที่ 10 มิถุนายนได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะจัดงบรายหัวมาให้ในรอบเทอมการศึกษาที่ 2
ดังนั้นวันที่ 10 มิถุนายนไม่เกี่ยวกับกำหนดขีดเส้นในการรับเด็ก เพราะสามารถรับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้ตลอดหรือเรียกว่าเข้าระหว่างเทอมหรือภาคการศึกษา การกำหนดวันที่ 10 เป็นเรื่องของการที่จะได้รับเงินอุดหนุนเร็วช้าต่างกันเท่านั้น ซึ่งแม้รับเด็กเข้ามาเรียนแล้วแต่เงินอุดหนุนรายหัวยังไม่มา โรงเรียนทั่วไปก็สามารถจัดการถั่วเฉลี่ยและบริหารจัดการได้เป็นปกติอยู่แล้ว
รวมทั้งห้ามลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท
ดังนั้นจากกรณีของ หยก โรงเรียนมีหน้าที่ต้องรับเข้าเรียน แม้ไม่มีผู้ปกครองก็ต้องรับเข้าเรียน สามารถส่งข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบของกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วยโรงเรียนเอง ส่วนถ้านักเรียนกระทำความผิดก็มีระเบียบในการลงโทษให้ปฏิบัติอยู่แล้ว
กระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนสีขาว เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน และต้องไม่มีเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา