เข้ามหาลัยระบบใหม่ยังเถียงไม่จบ

เข้ามหาลัยระบบใหม่ยังเถียงไม่จบ

รมว.ศึกษาธิการ เรียก กลุ่ม ทปอ.มรภ.- ทปอ.มทร. ถกร่วม ทปอ.พร้อมผู้บริหาร ศธ. แก้ปัญหาคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ตีโจทย์ 6 ข้อ สุดท้ายเห็นด้วยแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป


เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ว่า ตนได้เชิญผู้แทน ทปอ. ทปอ.มรภ. และทปอ.มทร. มาหารือเรื่องการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการเปิดระบบรับตรงกลางร่วมกัน โดยใช้ข้อสอบกลาง ให้เด็กสอบเพียงครั้งเดียว 

จากนั้นให้นำคะแนนมายื่นเคลียร์ริงเฮาส์ได้ 2 ครั้ง ตามหลักคิด 6 ข้อ คือ

 1.อยากให้นักเรียนเรียนจบ ม.6 ครบหลักสูตร
 2.ระบบใหม่ต้องไม่เป็นภาระ 
3.นักเรียนต้องมีสิทธิเลือกคณะต้องการได้
 4.มหาวิทยาลัยสามารถเลือกเด็กได้ตามความต้องการ
 5. ต้องไม่มีการวิ่งรอกสอบ และ
 6.ต้องดูบริบทของกลุ่ม มรภ.และมทร.ด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการตามหลักคิดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในส่วน มทร.และ มรภ.จะต้องไปหารือภายในกลุ่มของตนเองอีกครั้ง เนื่องจากทั้งสองกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมในระบบใหม่นี้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการหารือเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามระบบใหม่จะเริ่มได้ในเดือนมี.ค.-เม.ย. และเสร็จสิ้นภายใน 6 สัปดาห์หลังเด็ก จบ ม.6 โดยจะให้สอบแบบทดสอบต่างๆ เพียงครั้งเดียว เพื่อนำคะแนนไปใช้ในยื่นเคลียร์ริงเฮาส์ ซึ่งคาดว่าจะสอบในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ส่วนการรับสมัครจะใช้ระบบเคลียร์ริงเฮาส์ 2 ครั้งซึ่งไม่ใช่การสอบระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ แอดมิชชัน และ เอนทรานซ์ โดยเบื้องต้นจะให้นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชาทั้งสองครั้ง หลังจากเคลียร์ริงเฮาส์ทั้งสองครั้งแล้ว หากมหาวิทยาลัยยังมีที่ว่างก็สามารถเปิดรับสมัครเองได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่กำหนด ส่วนการชำระค่าสมัครเข้าศึกษาต่อจะให้ชำระหลังจากที่เด็กได้เข้าเรียนแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับคัดเลือกนักศึกษาในระบบโควตายังให้มีอยู่ต่อไป โดยให้มหาวิทยาลัยพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนแต่ห้ามให้มีการจัดสอบ

รศ.ดร.สมบัติ คชสินธ ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวว่า ตนได้เสนอในที่ประชุมว่า เด็กที่เรียนใน มรภ.เป็นเด็กในท้องถิ่นประมาณ 85% หากใช้ระบบนี้เด็กจะวิ่งไปมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่อยู่ในท้องถิ่น ดังนั้นจึงอยากให้คิดถึงบริบทนี้ด้วย อย่างไรก็ตามตนยังเห็นว่า การเปิดรับตรงน่าจะเหมาะสมกับกลุ่ม มรภ.อยู่ ทั้งนี้ ทปอ.มรภ.จะหารือร่วมกันในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยจะมีตัวแทนจาก ทปอ.และ ศธ. เข้าไปชี้แจงด้วย

ขอบคุณเนื้อหาจาก ::dailynews.co.th

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์