ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Hattori Fanta Tanako" ซึ่งเป็นชาวไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่ข่าวที่น่ายินดีกับความสำเร็จของนายวรวุฒิ จันทร์หอม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโครงการทดลองทางอวกาศ ระบุว่า "เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าว NHK ได้รายงานข่าวเรื่อง โครงงานทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยได้รับการคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ Japan Aerospace Exploration Agency ( JAXA ) นำขึ้นไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศโดยนานาชาติ โดยมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น คุณ Onishi Takuya และน้องนักศึกษาไทยยังได้รับโอกาสให้พูดคุยกับมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นผ่านระบบการสื่อสารจากสถานีอวกาศเป็นเวลาราวๆห้านาทีอีกด้วยครับ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานที่ดูแลโครงการนี้ พบว่า โครงการที่ได้รับการคัดเลือก มีชื่อว่า "Capillary in Zero gravity"
โดยนายวรวุฒิ ระบุว่า
จุดเริ่มต้นของการทดลองนี้มาจากการทำ Lab ในห้องเรียน ซึ่งสังเกตว่าของเหลวที่อยู่ในภาชนะที่มีลักษณะเป็นหลอด ผิวของน้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน บางผิวมีลักษณะเว้าขึ้น บางผิวมีลักษณะเว้าลง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านข้อมูลจึงเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการทดลองในครั้งนี้ และพบว่าความเว้านูนของน้ำขึ้นอยู่กับแรง adhesive(ยึดติด) และ cohesive(เชื่อม) ซึ่งในสมการจะมีแรงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงอยู่ในสมการ จึงสงสัยว่าถ้าทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ลักษณะของผิวของเหลวจะเป็นอย่างไร โดยการทดลองจะนำของเหลวต่างชนิดกันมาบรรจุในเข็มฉีดยา (Plastic syringe) จากนั้นสังเกตผิวของของเหลวแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองบนโลก