คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น เร่งพัฒนาครูตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21
พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในโอกาสประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เรื่องการผลิตและพัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ว่า เห็นชอบแนวความคิดการผลิตครูและพัฒนาครูให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวโน้มแบ่งครูตามเขตพื้นที่ แต่ละสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครูได้ต้องดูแลโรงเรียนในเครือข่าย ขับเคลื่อนการศึกษาผ่านรูปแบบนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีแบบเปิด ซึ่งครูใหม่ต้องทำงานควบคู่กับครูประจำการแต่ละในเขตพื้นที่
นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มข.กล่าวว่า มข.สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเริ่มจากวิชาด้านคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2545 แล้วขยายผลไปสู่วิชาอื่นๆ การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาจำเป็นต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ จึงสนับสนุนให้กลุ่มวิจัยทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่นั้น และจัดตั้งเป็น “ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา” ในฐานะศูนย์วิจัยเฉพาะทางของ มข.ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี จนกระทั่งปี 2557 จึงขยายเป็น “สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน” เพื่อเตรียมขยายผลการแก้ปัญหาในระดับประเทศต่อไป ปัจจุบันมีขอบเขตโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาภายใต้โครงการการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์กว่า 120 โรง ครอบคลุม 20 จังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีก 15 โรงเรียนเครือข่ายในภาคเหนือ และภาคใต้
“มหาวิทยาลัยต้องการพัฒนาการศึกษาในระดับอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันต้องการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนจะดำเนินการล่วงหน้าไปก่อน และหากภาครัฐเล็งเห็นว่ามีประโยชน์ ทาง มข.ไม่ขัดข้อง เราสามารถพัฒนาตามกระบวนการและขยายผลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อภาพรวมของประเทศได้อีกทางหนึ่ง” นายกิตติชัยกล่าว
นายไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มข.กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยตีกรอบหน้าที่ของครูให้เน้นไปที่การสอนตามสาขาวิชาที่ขาดความเชื่อมโยงกับชีวิตจริง และการนำไปใช้แต่ลืมคำนึงถึงความสามารถในการแนะแนวทางการศึกษาให้กับเด็ก และความต้องการของเด็ก ครูควรจะเป็นคนที่สอนแนวทางคุณธรรมจริยธรรม ระบบวิธีการคิด การจัดการ และการแก้ปัญหาให้กับเด็ก มากกว่าการไปเน้นวิชาเดี่ยววิชาใดวิชาหนึ่ง คณะศึกษาศาสตร์ มข.ต้องการผลิตครูที่มีกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นคนที่มีความรู้ มีวินัย แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ผ่านนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการคิดสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า “วิธีการแบบเปิด (Open Approach)” หลักสูตรที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ไม่ใช้หลักการบรรยาย และท่องจำแบบเดิม แต่ใช้การเรียนที่ก่อแรงบันดาลใจ โดยมี “โจทย์ หรือ สถานการณ์ปัญหา” ที่ส่งเสริมผู้เรียนให้ลองผิดลองถูกจนสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนเป็นเพียงผู้สังเกตวิธีการแก้ไขปัญหาของเด็กแทน แล้วจึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนที่นำไปสู่การประมวล สังเคราะห์ สรุป ความรู้ใหม่ร่วมกัน นวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนที่ถูกพัฒนาจากศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษาที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศเอเปค กว่า 19 ประเทศ และตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21
ที่มา : kroobannok.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!