นับเป็นความสำเร็จในเรื่องโครงสร้างวงการกีฬาของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ...." จากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา นั่นหมายความง่ายๆ ว่าประเทศไทยกำลังจะมีการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ" ขึ้นเป็นครั้งแรก
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรกีฬาในทุกองคาพยพเพื่อขับเคลื่อนวงการกีฬาของไทยในทุกมิติสอดรับกับการพัฒนากีฬาของประเทศ ทั้งกีฬาขั้นพื้นฐาน, กีฬาเพื่อมวลชน, กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาเพื่อการอาชีพ ส่วนรูปแบบการวางแนวทางจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ" คือการยกระดับการเรียนการสอนสถาบันการพลศึกษา 17 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
นายปริวัฒน์ วรรณกลาง อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา ในฐานะคณะกรรมการยกร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.... เล่าว่า หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่ประเทศเกาหลีใต้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวฯมีความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาของไทย จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ"
ขณะนั้นมีทางเลือก 2 ทาง คือ จัดตั้งใหม่ หรือเปลี่ยนสถานะยกระดับสถาบันการพลศึกษา 17 วิทยาเขตทั่วประเทศ พัฒนาการเรียนการสอนเป็น "มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ" สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้ของเดิมที่มีอยู่คือ ยกระดับสถาบันการพลศึกษา 17 วิทยาเขต
จากนั้นเริ่มเดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจนผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ในปัจจุบัน โดยได้ศึกษาโครงสร้างการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาจากหลายประเทศที่เป็นผู้นำวงการกีฬาของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยกีฬาเมืองโคโลญจ์ ประเทศเยอรมนี, มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน, มหาวิทยาลัยกีฬาชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นแนวทางในการดำเนินการ
นายปริวัฒน์บอกต่อว่า สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วไปจะเน้น 4 เรื่อง คือ 1.การจัดการศึกษา 2.การวิจัย 3.การบริการทางวิชาการ และ 4.การทำนุบำรุงด้านศิลปวัฒนธรรม แต่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะเน้นเฉพาะทางด้านกีฬา และจะมี 2 แนวทางหลักในการดำเนินการ นั่นคือเรื่องของการศึกษา และเรื่องของการเป็นศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา
ในเรื่องของการศึกษานั้นจะครอบคลุมทุกศาสตร์ด้านกีฬา ของเดิมสถาบันการพลศึกษาจะมีการเรียนการสอนสูงสุดถึงระดับอนุปริญญาตรีด้านพลศึกษา และต่อยอดอีก 2 ปีโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้ได้รับปริญญาตรีศึกษาศาสตร์พลศึกษา แต่ของเดิมจะยกเลิกใหม่หมด และจะวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่เพราะสามารถเปิดการเรียนการสอนปริญญาตรีและปริญญาโทได้ทันที
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ มี 4 คณะ คือ
1.คณะพลศึกษา ซึ่งจะครอบคลุมด้านการผลิตนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา
2.คณะบริหารจัดการกีฬา ครอบคลุมเกี่ยวกับธุรกิจการกีฬา สื่อสารการกีฬา วิทยาศาสตร์ สุขภาพ ท่องเที่ยวและนันทนาการ เน้นเจาะลึกในแต่ละวิทยาเขตโดยจะแบ่งให้แต่ละวิทยาเขตเน้นการเรียนการสอนจำแนกออกมา เช่น สื่อสารการกีฬาจะแยกย่อยเป็นโฆษณาประชาสัมพันธ์, สื่อสารมวลชน, สื่อสารดิจิทัล หรือสาขาท่องเที่ยวและนันทนาการ จะเน้นเรื่องของภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นหลัก
3.คณะเทคโนโลยีการกีฬา จะมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น นวัตกรรมการกีฬา หรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์กีฬา
4.คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยในยุคใหม่จะปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์การกีฬาใหม่ทั้งหมด จะมีการเรียนการสอนแยกย่อยเป็นกลุ่มชีวกลศาสตร์ จิตวิทยา สรีระการกีฬา และโภชนาการกีฬา