นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) 38 แห่ง ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระราชทานราชหัตถเลขาถึง มรภ.ให้เน้นการผลิตครูที่มีคุณภาพ ที่ประชุมจึงได้หารือร่วมกันถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเบื้องต้นได้พิจารณาเรื่องการปรับระบบการผลิตครูเหลือ 4 ปี ตามที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เสนอ โดยมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงข้อดีและข้อเสียของการผลิต 4 ปี หรือ 5 ปี แต่ยังไม่ได้ ข้อสรุป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้นำกรณีศึกษาจากต่างประเทศและงานวิจัยของทีดีอาร์ไอมาอภิปรายกัน ซึ่งต่างประเทศก็มีระบบการผลิตครูได้หลายระบบ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาวัดกันที่ผลผลิต
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ส่วนงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ก็จะพบว่าเป็นการผลิตที่เน้นเนื้อหา ไม่ใช่สมรรถนะ เด็กต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปี โดยมีผลวิจัยมาเทียบเคียงว่าเด็กที่จบหลักสูตร 5 ปี กับ 4 ปี มีคุณลักษณะไม่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละปีมีการผลิตครูถึง 5 หมื่นคน โดยมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ฉะนั้นหากเด็กต้องเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปี ทั้งเด็กและรัฐจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มกว่า 8 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอว่าการผลิตครูขึ้นอยู่กับกระบวนการ โดยยกตัวอย่างการผลิตครูตามโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูที่เข้มข้นโดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดในการนำมาพิจารณาถึงกระบวนการผลิตครูที่ชัดเจน
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า ซึ่งตนขอยืนยันอีกครั้งว่าการปรับระบบการผลิตครูเหลือ 4 ปีนี้ ไม่ใช่ความต้องการหรือข้อเสนอของตน แต่เป็นความ ต้องการของสภาคณบดีฯ ที่เสนอมาให้พิจารณา ดังนั้น เรื่องนี้กลุ่มวิชาชีพจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่ รมว.ศธ.เป็นผู้ตัดสินใจเพราะไม่มีสิทธิ์ ส่วนที่ตั้งเป้าว่าระบบการผลิตใหม่นี้จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไปนั้น ขอยืนยันว่าระบบการผลิตครูที่ได้รับการพัฒนาใหม่นี้จะทันใช้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน เพราะหากตกลงไม่ได้และต้องมี 2 ระบบ ก็จะต้องไม่ทำให้ผู้เรียนหลักสูตร 5 ปี และ 4 ปี ได้รับผลกระทบ โดยจะจัดสัมมนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทปอ.มรภ. ส.ค.ศ.ท. และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุดต่อไป.