จากงานสภาการศึกษาเสวนา ครั้งที่ 20 เรื่อง "ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ" นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับผิดชอบนักเรียน 6.2 ล้านคน จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยสนับสนุนงบฯ 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียน การสอน, ค่าหนังสือเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งนี้ งบฯจัดการศึกษาในส่วนของค่าใช้จ่าย รายหัวเป็นอัตราที่ใช้มานาน ส่วนงบฯกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจะใช้ตามนโยบายของ ศธ.และ สพฐ. ซึ่ง สพฐ. จึงร่วมกับยูนิเซฟและคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์สำรวจการใช้จ่ายงบฯเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอเรื่องข้อค้นพบสำคัญจากการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี 15 ปี ในประเทศไทยว่า ผลสำรวจ 250 โรงเรียน ครอบคลุม 24 เขตพื้นที่การศึกษา จากความเห็นครูผู้บริหาร 2,463 คน ผู้ปกครอง 2,500 คน พบว่า สพฐ.โอนงบฯโครงการเรียนฟรี 15 ปี ถึงโรงเรียนโดยตรง พบปัญหาการโอนเงิน ล่าช้า อาทิ งบฯจัดซื้อหนังสือล่าช้าเฉลี่ยหลังเปิดเรียน 24 วัน, ร.ร.ในเขตเมืองจ่ายค่าหนังสือสูงกว่า ร.ร.ในชนบท, ร.ร.มีความล่าช้าในการแจกอุปกรณ์การเรียน 37 วัน ในภาคเรียน 2 และ 17 วัน ในภาค เรียนแรก, เงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนกว่าร้อยละ 95 แจกเป็นเงินสด และจำนวน 2 ชุดนั้นไม่เพียงพอ, งบฯกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ร.ร.จัดได้ไม่ครบและต้องขอเพิ่มจากผู้ปกครอง อีกทั้งพบว่าสถานศึกษามีงบฯจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่ยังใช้ไม่หมดมากถึงร้อยละ 20 ของเงินที่ได้รับ เมื่อสิ้นปีงบฯที่สองของโครงการ มีมูลค่ารวม 8,200 ล้านบาท สาเหตุที่ไม่ได้ใช้เงินอาจเนื่องจากระบบบัญชีโรงเรียนอ่อน ขาดประสบการณ์ในการจัดการทางการเงิน ขณะที่เขตพื้นที่ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียน 1 ครั้งต่อปีเท่านั้น
รศ.ดร.ชัยยุทธกล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะคือ ควรปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน จัดสรรเงินให้ถึงตัวเด็กโดยตรง ปรับปรุงวิธีคัดกรองและช่วยเหลือเด็กยากจน ปรับปรุงระบบบัญชี ร.ร. ยกระดับบทบาทและความรับผิดชอบการกำกับดูแลของเขตพื้นที่ และควรให้ข้อมูลเรียนฟรี 15 ปี ให้กับครอบครัวนักเรียนมากขึ้น ยกระดับความรับผิดชอบของ ร.ร. โดยเปิดเผยข้อมูลงบฯและผลการเรียนของเด็กต่อชุมชนและผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้ ร.ร. ผู้บริหารและครูแสดงความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานมากขึ้น
ด้าน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเห็นว่างบฯสำหรับเด็กยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กยากจน จึงหวังให้ส่วนกลางจัดสรรเงินให้กับเขตพื้นที่และโรงเรียนโดยตรงมากขึ้น.