9 ปรากฏการณ์รั้งปฏิรูปการเรียนรู้
พว.วิเคราะห์เรียนสอบมากกว่าเรียนรู้ - ชู Active Learning เต็มรูปแบบ ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) กล่าวว่า
การศึกษาเป็นรากฐานและเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะเห็นได้จากการกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศให้ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยเป็นยุคที่ต้องขับเคลื่อนด้วยศักยภาพของคนที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศและการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้การศึกษามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยการจัดการศึกษาจะต้องปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น โดยเริ่มจากการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการท่องจำ การเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียนหรือ Active Learning มากกว่าการเรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับ Passive Learning เพราะกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สอดคล้องกับการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ ผู้เรียนจะสามารถเก็บและจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ระยะยาว เพราะได้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นการสร้างรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต อันจะนำไปสู่การมีความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยที่ผ่านมา พบว่ายังไม่ตรงเป้าหมายของรัฐบาล เนื่องจากมีจุดอ่อนของการจัดการศึกษา ที่สำคัญเปรียบเสมือนเป็นกำแพงกั้นไม่ให้ผลการพัฒนาทะลุผ่านไปได้
ประกอบด้วย 9 ปรากฎการณ์ ได้แก่
1.การเน้นผลการสอบมากกว่าผลการเรียนรู้ ทำให้พบว่าผู้เรียนที่สอบได้คะแนนสูง ๆ จำนวนหนึ่งเมื่อถูกถามถึงผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ที่มีการคิดอย่างสร้างสรรค์ มีคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามต่อสังคม ผลการตัดสินใจที่มีค่านิยมต่อสังคม ผลผลิตที่เป็นชิ้นงานจริง ๆ กลับไม่มีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ทำให้คะแนนที่สอบได้เป็นคะแนนที่ไม่มีความหมาย
2.การให้ความสำคัญกับระบบการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในสภาวะปกติ น้อยกว่าการประเมินภายนอก คือ การบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนมักนำสถานภาพของตนไปผูกติดกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต และการทดสอบระดับนานาชาติ หรือ พิซ่า เมื่อเห็นผลการทดสอบที่น่าเป็นห่วงจึงต้องหาวิธีทำให้ผลการสอบมีคะแนนสูงขึ้นในทันทีและรวดเร็วจนกลายเป็นที่มาของการนำข้อสอบมาสอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์หาคำตอบของข้อสอบที่าผ่านมา และเพื่อเตรียมการสอบครั้งต่อไป ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ
ดร.ศักดิ์สิน ยังกล่าวต่อไปว่า 3.การอยากได้คะแนนสูง ๆ ทั้งที่ไม่มีความพร้อม ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนเพื่อสอบมากขึ้น
4.การละเลยที่จะใช้โอกาสพัฒนาผู้เรียนกลุ่มเก่งให้มีความสามารถในการสร้างผลผลิตและนวัตกรรม โดยโรงเรียนที่เป็นแหล่งรวมผู้เรียนที่มีระดับสติปัญญาสูง ๆ ถ้าจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning อย่างเต็มรูปแบบ ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจะสามารถไปถึงระดับสร้างผลผลิตและนวัตกรรมให้แก่ประเทศได้ แต่เรามักจะเน้นเพียงว่าผู้เรียนสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่าไหร่ สอบชิงทุนได้เท่าไหร่ ยังไปไม่ถึงการสร้างผลผลิตและนวัตกรรม ซึ่งสะท้อนว่าผู้เรียนเรียนแล้วไม่เกิดความรู้ระดับหลักการใหญ่หรือเกิดองค์ความรู้ที่จะไปสร้างนวัตกรรมได้
5.มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตร บรรลุได้ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning แต่เรายังจัดการเรียนรู้แบบ Passive Learning ทำให้ไม่เกิดการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริงในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6.วัฒนธรรมการสอนแบบนามธรรม Passive Learning ยังฝังลึกในทุกระดับ ครูผู้สอนยังใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ หรือการบรรยายมาสอนอยู่ซึ่งหากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนก็เป็นไปได้ยากที่จะเกิดผลแบบใหม่ตามเป้าหมายที่ประเทศต้องการได้
7.พหุปัญญายังไม่ถูกนำมาใช้ในห้องเรียน
8.คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า หลักสูตร คือ หนังสือเรียน ปรับหลักสูตร คือ ปรับหนังสือเรียน และสอนหนังสือเรียนจบ คือ จบหลักสูตร และ
9.นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะไม่ได้สอนการอ่านควบคู่กับการคิดวิเคราะห์ ทั้งนี้ หากสามารถแก้ปัญหาปรากฎการณ์ทั้ง 9 ข้อ ได้อย่างเร็ว มั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 6 ธันวาคม 2560