ไม่รับคนจบราชภัฏ-ราชมงคล-เอกชน ศักยภาพบัณฑิตไม่ถึง หรือ บริษัทคิดไปเอง?
"ขอบคุณค่ะที่สนใจจะเข้าร่วมงานกับบริษัทฯ เเต่บริษัทฯ ไม่สะดวกรับพนักงานวุฒิ ป.ตรี ที่จบจาก ม.ราชมงคล/ราชภัฏ/เอกชน ค่ะ"
ประโยคแสนเจ็บปวดที่ชายหนุ่มได้รับจากฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งกลายเป็นเรื่องฮือฮาในโลกออนไลน์เมื่อสัปดาห์ก่อน
ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย บ้างบอกว่าเป็นสิทธิของบริษัทที่จะเลือกบุคคลเข้าทำงาน บ้างบอกว่าบริษัทไม่ควรให้คำอธิบายแบบนั้น และอีกมากตั้งคำถามว่าบริษัทยังยึดติดกับชื่อเสียงของสถาบันมากกว่าการพิจารณาจากความสามารถของตัวบุคคลอีกเหรอ ?
โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม "ราชภัฏ" จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้ง พระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ทั่วประเทศ
ขณะที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548
ด้วยความที่รูปแบบสถาบันทั้งสองแห่งพัฒนามาจากวิทยาลัย ทำให้หลายคนอาจยังไม่เชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาบัณฑิตย์ ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กหลายคนมักเลือกสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยรัฐบาลชั้นนำเป็นอันดับแรกๆ ก่อน เมื่อพลาดเป้าจึงเริ่มหาโอกาสทางการศึกษาจากกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ราชภัฏ และราชมงคล
ผศ.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ยอมรับว่า ความเชื่อเรื่องการเลือกรับนักศึกษาจากชื่อมหาวิทยาลัยอดีตอาจมีบ้าง แต่ตลาดงานยุคปัจจบันไม่มีแล้ว หลายองค์กรไม่ได้พิจารณาเฉพาะเรื่องความเก่งความฉลาดทางปัญญาของบัณฑิตเพียงอย่างเดียว แต่ประเมินจากคุณลักษณะอื่นประกอบ อาทิ เป็นคนดี มีความรับผิดชอบ มีวินัย เสียสละ เป็นจิตอาสา ตลอดจนการภาวะการเข้าสังคมและทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจของการทำงานแทบทั้งสิ้น
ขณะที่หลักสูตรและบุคลากรทางวิชาการของมหาลัยราชภัฏ ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงมั่นใจได้ว่า มีมาตรฐานเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งของประเทศ จึงมองว่าควรให้โอกาสบัณฑิตทุกสถาบันอย่างเท่าเทียม เพื่อจะได้มีโอกาสแสดงความสามารถการทำงาน หากไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ก็สามารถยกเลิกการจ้างงานได้
"ควรให้โอกาสทุกคน ทุกมหาวิทยาลัย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์บอก
เขากล่าวต่อว่า จุดแข็งของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎจากต่างจังหวัด คือความมีวินัย มีจิตอาสา มนุษยสัมพันธ์ดี และพร้อมสู้งานหนัก ซึ่งที่ผ่านมาเด็กจากสถาบันกลุ่มนี้ก็ประสบความสำเร็จในการทำงานและมีบทบาทในองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย
ในมุมมองของ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี การปฏิเสธของสถานประกอบการนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากการให้คำอธิบายไม่ใช่ความผิดพลาดของสถานประกอบการ มหาวิทยาลัยต้องขอบคุณที่ทำให้ได้หันกลับมามองและพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อตอบโจทย์ทุกมิติของภาคอุตสาหกรรม
"มันก็ทำให้เราหันกลับมามองตนเองและพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ทำงานได้อย่างมีคุณภาพ แต่ผมเชื่อว่าวันนี้สถานประกอบการส่วนใหญ่รู้จักและยอมรับราชมงคล นักศึกษาของผมมากกว่า 87 เปอร์เซนต์จบไปมีงานทำ 60 เปอร์เซนต์เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท ตลาดแรงงานรู้ว่าราชมงคลแต่ละแห่งมีความสามารถด้านไหนเป็นพิเศษ"
รศ.ดร.ประเสริฐ เชื่อว่าการปฏิเสธด้วยการอ้างว่าไม่รับบุคคลที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชมงมล น่าจะเป็นเพราะบุคคลผู้สมัครมีคุณสมบัติแหละความสามารถไม่ตรงกับความต้องการมากกว่าติดใจเรื่องสถานศึกษา
"ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธเด็กทุกคนจากราชมงคล" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีกล่าว
โทษภาคเอกชนอย่างเดียวไม่ได้
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า การปฏิเสธบุคคลจากชื่อสถาบันจะโทษภาคเอกชนอย่างเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการจัดอันดับหรือให้ข้อมูลความเข้มแข็งทางวิชาการอย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ ภาคเอกชนจึงประเมินจากข้อมูลและประสบการณ์ที่มีเท่านั้น
"เขาเลือกกันแบบคร่าวๆ ว่าจะรับคนจากไหน ซึ่งพอเข้าใจการตัดสินใจดังกล่าวได้ เนื่องจากการพัฒนาในมหาวิทยาลัยเมืองไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามในแง่หนึ่งการกระทำแบบนั้นก็เท่ากับปิดโอกาสคนที่มีความรู้ความสามารถที่จบจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งไป"
อย่างไรก็ตามอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า จะรับบุคลากรจากสถาบันไหน ภาคเอกชนก็ต้องเจอกับปัญหาอื่นๆ อยู่ดี
"สถาบันที่มีคุณภาพ มีคนที่เข้าไปเรียนแล้วไม่ได้ผลก็มี ในภาพรวมการเลือกรับบุคคลจากสถาบันก็สะท้อนสภาพความเป็นจริงระดับหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเลือกใครก็ต้องเจอปัญหาอื่นๆ ต่อไป หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนที่เขาใช้มันช่วยได้บ้าง แต่ยังต้องเหนื่อยกับการคัดคนและเทรนด์คนอีกทีจากสถาบันที่คุณคิดว่าดีแล้ว"
อดีตรองนายกรัฐมนตรี บอกต่อว่า ปัญหาของการคัดเลือกคนจากสถาบัน เป็นเหมือนยอดภูเขา ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากในระบบการศึกษาของประเทศ จนทำให้สุดท้ายแล้วเอกชนไม่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกที่เป็นวิทยาศาสตร์มากนัก
"เขาไม่อยากใช้เวลามากเกินไป เลยจำกัดโอกาสและความผิดพลาดให้เหลือแคบลง แต่ผมเชื่อว่ายังจะเจอปัญหาอื่นๆ อีก"
จาตุรนต์ ชี้ว่าเวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาในการสร้างคน หลักสูตรการศึกษายังไม่ได้ถูกปรับปรุงให้ทันกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งกำหนดคุณสมบัติหลากหลายด้านสำหรับผู้ที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ เช่น ความสามารถในการคิด การวิเคราะห์ การแสดงออก การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความเป็นผู้นำ ตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองในยุคสมัยใหม่ เป็นต้น
6 เกณฑ์ที่นายจ้างเลือก
สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะองค์กรผู้ให้บริการการจ้างงานระดับโลก เปิดเผยว่าเกณฑ์การรับนักศึกษาของนายจ้างในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกันบ้าง เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลกและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามมีหลักเกณฑ์สำคัญที่หลายบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง
1.ทัศนคติ เป็นเรื่องหลักที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ โดยพิจารณาจากมุมมองต่อตนเอง มุมมองต่อองค์กร รวมถึงสิ่งแวดล้อมว่า มีทัศนคติว่าเชิงบวกอย่างไร
2.ประสบการณ์ เด็กจบใหม่พิจารณาจากประสบการณ์การฝึกงาน การผ่านงานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ ฯลฯ ว่ามีประสบการณ์สอดคล้องกับลักษณะงานที่รับหรือไม่
3.ทักษะวิชาชีพ พิจารณาจากเกรดเฉลี่ย โดยเฉพาะวิชาที่ตรงกับตำแหน่ง เพื่อดูว่าสามารถแก้ปัญหา วางแผนและรับผิดชอบงานได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงพิจารณาจากทักษะการใช้ชีวิตระหว่างเรียนช่วงทำกิจกรรมชมรมหรือกีฬา
4.บุคลิกภาพ ภายในดูจากการวางตัวและมนุษยสัมพันธ์ ภายนอกดูการแต่งกาย การพูดและการใช้ภาษากาย
5.การเตรียมตัวก่อนการสัมภาษณ์ ทั้งการเตรียมเอกสารข้อมูลประวัติส่วนตัว การศึกษาข้อมูลตำแหน่งหน้าที่และองค์กร เพื่อประกอบการพิจารณาว่า มีคุณสมบัติเหมาะกับตำแหน่งงานอย่างไร
6.การนำเสนอ จุดนี้ต้องขายความเป็นตัวเองทุกอย่าง
"ต่อให้คุณเก่งหรือเป็นคนดียังไง หากขาดการนำเสนอที่ดี ก็ไม่อาจส่งผ่านไปถึงนายจ้างที่พิจารณาได้"
สุธิดา บอกว่า นักศึกษาควรเริ่มวางแผนเส้นการทำงานตั้งแต่ก่อนจบ โดยสังเกตจากความชอบ ความถนัด ความสนใจเพี่อที่จะมุ่งมั่นไปยังเส้นทางนั้นเต็มที่ จากประสบการณ์มักเห็นว่า นักศึกษาหลายคนแม้ช่วงใกล้เรียนจบก็ยังไม่ทราบว่าอยากทำงานอะไร ดังนั้นควรตั้งเป้าหมายอนาคตก่อนถึงเวลาออกไปสู่ตลาดแรงงานจริง
"การเดินแบบไม่มีจุดหมาย หมายถึงโอกาสต่อยอดในสายอาชีพยากกว่าคนที่วางแผนในชีวิตไว้แล้ว"
สุธิดา แนะนำเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญนักศึกษาจบใหม่ไม่ควรเลือกงาน เพราะบางคนพยายามหางานที่ได้ค่าตอบแทนสูงๆ ซึ่งความเป็นจริง เป็นเรื่องยากสำหรับคนไม่มีประสบการณ์ แนะนำว่าควรพยายามเรียนรู้และพัฒนาประสบการณ์การทำงานให้มากที่สุด เมื่อทำได้โอกาสและรายได้ที่ดีจะตามมา
ผจก.การตลาดแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ทิ้งท้ายว่า ประสบการณ์ต้องอาศัยเวลาในการเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับโอกาสที่เข้ามาในชีวิต อยากให้บัณฑิตใหม่ทุกคนเตรียมตัว สำหรับทุกโอกาสที่เข้ามา และทำให้ดีที่สุด เพราะตลาดแรงงานยุคนี้ ชื่อสถาบันไม่ได้เป็นเครื่องการันตีเสมอไปว่า นักศึกษาคนนั้นมีความสามารถ หรือจะประสบความสำเร็จ
เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของแอฟริกาใต้ เคยบอกว่า "การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก" อย่างไรก็ตามหากมีความรู้เเต่ไร้ซึ่งโอกาส ความสำเร็จในชีวิตของบุคคลก็ดูจะเป็นเรื่องยาก
Cr:::posttoday.co.th