มารู้จัก ทุนเสมาพัฒนาชีวิตกันเถอะ
ช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์มานี้ ข่าวกรณีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ด้วยวงเงินที่ตรวจสอบพบเบื้องต้น 88 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างมากที่เกิดขึ้นแก่วงการศึกษา เพราะกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเป็นกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือและมอบโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กหญิงที่อยู่ในภาวะยากลำบาก
หลังจากเป็นข่าวดังขึ้นมา ดร.อาทร จันทวิมล อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ผลักดันให้เกิดเป็นกองทุนเพื่อเด็กหญิงด้อยโอกาสทางการศึกษา ถึงกับบอกว่า พอทราบเรื่องมาก่อนบ้างแล้ว ก็พยายามสืบด้วยตัวเองอยู่ เพราะทางโรงเรียนสอบถามมาว่ายังไม่ได้รับเงิน พอเป็นข่าวขึ้นมาก็รู้สึกตกใจมาก ไม่คิดว่าจะกล้าทำกันขนาดนี้ เพราะรู้ทั้งรู้ว่ากองทุนนี้ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อะไร และตอนที่ตั้งกองทุนก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร และพิจารณาอนุมัติเงินทุน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มั่นใจว่ามาตรการวางไว้อย่างรัดกุมแล้ว แต่ก็ยังมีช่องให้ยักยอก ทุจริตกันได้อีก ถึงตอนนี้เรื่องคดีความ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่เรามาฟังที่มาของการตั้งกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตจากผู้ก่อการดีกันดีกว่า ....
ดร.อาทร เล่าว่า ตอนนั้น เป็นรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายให้ดูแลฝ่ายกิจการพิเศษ ซึ่งในสมัยนั้นรัฐบาล "ชวนหลีกภัย" ได้ประกาศนโยบายแก้ปัญหาเอดส์ และปัญหาเด็กในธุรกิจทางเพศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นต้องเข้าไปร่วมในการรณรงค์แก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องลงไปศึกษาหาข้อมูลก่อน โดยไปที่หน่วยงานราชการบางหน่วย และลงไปที่จังหวัดทางภาคเหนือ 2จังหวัด โดยจัดสัมมนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้ทราบว่า
ปัจจัยที่ทำให้เด็กหญิงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนอาชีพธุรกิจทางเพศ มาจาก4 ปัจจัยหลัก คือ
1.พ่อแม่หย้าร้าง มีพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง
2.พ่อ/แม่ตาย หรือ ติดคุก หรือมีหนี้สินมาก
3.มีคนในครอบครัวเคยอยู่ในธุรกิจทางเพศและ
4.คนในชุมชนที่พักอาศัยเคยไปประกอบธุรกิจทางเพศ
สรุปง่าย ๆ ว่าสาเหตุ คือ ค่านิยม ตามเพื่อน ยากจน ด้อยโอกาสทางการศึกษา "
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว วิธีการแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการที่ช่วยเหลือเด็กได้ทันที คือ ต้องให้การศึกษา โดยเริ่มต้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือเวลานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ไปสำรวจ เด็กหญิงที่จบ ป.6 แล้วจะไม่เรียนต่อว่ากี่คน พบว่ามีประมาณ 3,000 คน ก็ไปทดลองใน 1 อำเภอโดยเรียกเด็กที่จะไม่ได้เรียนต่อ 200 กว่าคนมาสัมภาษณ์ทีละคน ทำไมไม่เรียนต่อ ส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีเงิน กับสอบเข้าไม่ได้ ซึ่งกรณีไม่ได้เรียนต่อผมก็ประสานหาโรงเรียนให้ ส่วนที่ไม่มีเงิน ผมถามไปว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ เด็กตอบว่าประมาณ 3,000 บาท ผมก็ไปหาเพื่อน ๆ ขอเงินระดมเงิน หรือ เรียกว่าไถเงินก็ได้แล้วเอามาให้เด็กได้เรียนหนังสือ แล้วหาโรงเรียนให้เด็กจนครบทั้ง 200 กว่าคน"นายอาทรเล่าพร้อมกับถามกลับว่า รู้เหตุผลหรือไม่ว่าทำไมถึงต้องให้ทุนเฉพาะเด็กหญิง จากนั้นก็เฉลยให้ฟังว่า
เพราะเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงที่อาจถูกชักจูงไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ขณะที่เด็กผู้ชายยังมีทางไปโดยการไปบวชเณรซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแถมยังได้เรียนด้วย อย่างไรก็ตามจากการถามเด็ก ๆ ว่า อยากทำอาชีพอะไร ก็ได้คำตอบว่าอยากเป็นพยาบาล อยากเป็นตำรวจหญิง และอยากขายของในเซ็นทรัลหรือเป็นพนักงานโรงแรม ซึ่งตัวสำคัญคือเด็กอยากเป็นพยาบาล แต่เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กบ้านนอกสอบแข่งก็สู้ไม่ได้ ผมก็ไปเจรจากับ หมอประดิษฐ์ เจริญชัยทวี สมัยนั้นซึ่งผมไม่จำไม่ได้ชัดนักว่าท่านมีตำแหน่งอะไร แต่ท่านบอกว่าจะเอาเงินมาช่วย แต่ผมตอบไปว่าอยากให้เด็กเข้าไปเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาล ก็ได้โควตามาปีละ 40 กว่าคน ซึ่งทำได้ไม่กี่ปีโครงการก็หยุดไป
ผมก็ยังเดินหน้าต่อไปกระทรวงสาธารณสุข ขอโควต้าใหม่ปีละ 50 คน โดยให้เด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้สอบแข่งกันเอง ตอนนั้นเริ่มได้เงินจากการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลมาแล้ว โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน จากแรกเริ่มผมขอให้ช่วยออกสลาก 1 งวด 6 ล้านบาท พอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก็ได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มเป็น 60 ล้านบาท
และรัฐบาลต่อมาก็เพิ่มให้อีกเป็น 600 ล้าน เพื่อให้ช่วยหลือเด็กภาคอื่นด้วยไม่เฉพาะภาคเหนือเท่านั้น ถึงวันนี้กว่า 20 ปีมาแล้ว กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ได้ให้ชีวิตใหม่ ให้การศึกษาแก่เด็กหญิงไม่น้อยกว่าแสนคน และที่สำคัญโครงการเสมาพัฒนาชีวิตยังได้รับการยกย่องและกล่าวถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กหญิงในภาวะยากลำบากอย่างมากในเวทีโลก
โดยครั้งหนึ่งองค์การอนามัยโลกได้ยกให้เป็นตัวอย่างในการป้องกันเอดส์ หรือ Best Practice Innovation มาแล้ว ซึ่งนายอาทรบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต
Cr:::: dailynews.co.th