ชี้คณะแพทย์ทุกมหา’ลัย ชงขึ้นค่าปรับหมอเบี้ยวใช้ทุน 2.5ล. เอง
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอขอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 เพื่อขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ จากวงเงิน 4 แสนบาท เป็น 2.5 ล้านบาท โดยขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยมอบให้ สธ.ทำหน้าที่ประสานกับสถาบันการผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า เห็นควรให้เพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญา เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทำงานกับภาครัฐนานขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพัฒนา และดึงแพทย์ให้อยู่ในระบบมากขึ้น แต่จะต้องปรับปรุงหลายเรื่องไปพร้อมกัน เช่น สวัสดิการ และการปรับชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม เป็นต้น
"ข้อเสนอการปรับขึ้นราคานี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่มาจากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ที่คณบดีแพทยศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย มองว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ส่วนความเห็นจากกลุ่มนักศึกษาแพทย์เป็นอย่างไรนั้น เท่าที่ทราบยังไม่มีเสียงตอบรับในเชิงลบ ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมเสนอขอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาทบทวนความเหมาะสมใหม่ ส่วนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.ว่าจะเริ่มใช้เมื่อไหร่ อย่างไร" นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว
นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า
เห็นด้วยกับหลักการขึ้นค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่หนีทุน คิดว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เพราะค่าปรับ 4 แสนบาท ถือว่าถูกเกินไป ส่วนอัตราค่าปรับที่เหมาะสม ควรจะเป็นเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา ส่วนตัวเห็นว่าไม่มากเกินไปนัก โดยนักศึกษาจะได้ตัดสินใจวางแผนอนาคตล่วงหน้า ขณะที่ประเทศต้องเสียงบประมาณในการผลิตแพทย์จำนวนมาก ก็จะไม่เสียโอกาส
Cr::matichon.co.th