ผู้กู้ยืม กยศ. ชงแนวทางจ่ายหนี้ - ยกเลิกเบี้ยปรับไม่เป็นธรรม
วันที่ (17 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มรวมพลคนขอปลดเบี้ยปรับ โดยมีสมาชิกกลุ่มเป็นลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จากหลายจังหวัด ที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการถูกคิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงจนท่วมเงินต้น ทำให้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้คืนกองทุนฯ ตามเกณฑ์ที่ทาง กยศ.กำหนดไว้และกำลังถูงบังคับคดี เดินทางมาเพื่อขอเจรจาและสะท้อนปัญหาที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนกองทุนฯ พร้อมกับยื่นข้อเสนอแนวทางการผ่อนผันชำระหนี้ที่มีความเป็นไปได้กับคณะกรรมการกองทุนฯ
นายชนก หมั่นสิงห์ ตัวแทนสมาชิกกลุ่มรวมพลคนขอปลดเบี้ยปรับ กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มทุกคนต้องการที่จะชำระหนี้คืนกองทุนฯ โดยที่ไม่ได้อยากผิดนัดผ่อนชำระหนี้ หรือปฏิเสธการชำระหนี้กองทุนฯ แต่อย่างใด ลูกหนี้หลายรายที่หยุดชำระหนี้ เนื่องจากเกิดอุปสรรคบางประการทั้งกับตนเอง หรือคนภายในครอบครัว ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เช่น ลูกหนี้บางคนตกงาน มีรายได้ไม่ตรงตามวุฒิที่เรียนจบ บางคนสมาชิกในครอบครัวหรือตนเองป่วยด้วยโรคที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางคนประสบปัญหาสภาวะทางการเงิน แม้ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะมีความพยายามในการชำระหนี้ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้และต้องจ่ายเบี้ยปรับจำนวนที่สูงท่วมกลบเงินต้นก็หมดกำลังใจ
"บางคนผ่อนชำระหนี้แล้วมารู้ทีหลังว่าเงินที่ทยอยผ่อนส่งไปทั้งหมดเป็นเบี้ยปรับ เงินต้นก็ไม่ได้ลดลง ดอกเบี้ยยังเพิ่มอยู่ตลอดเวลา แบบนี้ไม่รู้ว่าจะหมดหนี้เมื่อไหร่"
ขณะที่ น.ส.อิษยา ลูกหนี้กองทุนฯ จากการกู้ยืมเพื่อเรียน ปวช. กล่าวว่า หลังจบการศึกษาตนเองออกไปทำงานต่างภูมิลำเนา เมื่อครบกำหนดชำระก็ไม่ได้รับการแจ้งเตือนจาก กยศ.แต่อย่างใด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้เรื่อยมา หลังจากป่วยเป็นวัณโรคต้องรักษาต่อเนื่อง ดำรงชีพด้วยการทำงานรับจ้างและค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ จนปี 2562 ได้รับหมายบังคับคดีจะยึดทรัพย์บ้าน จึงได้เดินทางไปติดต่อขอผ่อนชำระกับ กยศ. เดือนละ 1,000-1,500 บาท แต่ทาง กยศ.แจ้งว่าต้องนำเงินจำนวน 80,000 บาทมาปิดบัญชีเท่านั้น จึงเห็นว่านโยบายการชำระหนี้คืนกองทุนไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ที่อยากชำระ เพราะไม่มีความยืดหยุ่น จึงได้มาร่วมกับกลุ่มเพื่อขอยื่นข้อเรียกร้อง
ขอยกเลิกเบี้ยปรับ-ใช้หลักเกณฑ์จ่ายใหม่
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกหนี้ฯ คือขอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณายกเลิกเบี้ยปรับและออกหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินต้นและยอดหนี้ที่ต้องชำระใหม่ตามความสมัครใจ รวมทั้งตามความสามารถที่ลูกหนี้แต่ละรายจะสามารถผ่อนชำระได้จริง อีกทั้งขอให้ชะลอการบังคับคดี หรือการขายทรัพย์ทอดตลาดในลูกหนี้ทุกราย ส่วนลูกหนี้ที่เคยจ่ายค่าเบี้ยปรับไปแล้วก็ขอให้นำเบี้ยปรับดังกล่าวไปหัดลดยอดหนี้ที่เป็นส่วนเงินต้น
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2539-2561 กยศ.ให้นักเรียน นักศึกษาได้รับโอกาศทางการศึกษาไปแล้ว 5,605,192 คน เงินให้กู้ยืมกว่า 6 แสนล้านบาท มีผู้กู้อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,569,236 คน ชำระปกติ ร้อยละ 40 ผิดชำระหนี้ ร้อยละ 60 ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,000,000 คน