สายตรงครูตั้น รับรู้เร่งแก้ไขทุกปัญหานักเรียน
รมว.ศธ.ย้ำ ทุกความคิดเห็นนักเรียนรับมาพิจารณาเร่งแก้ไข พร้อมส่งสารถึงผอ.รร.ทั่วประเทศ เปิดรับฟังปัญหาของนักเรียนอย่างเข้าใจ เผย จังหวะนี้ควรสร้างโอกาสการแข่งขัน หลังไทยได้เปรียบรับมือโควิดได้ดีเยี่ยม
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า
ตามที่ตนได้เปิดช่องทางรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะความคิดเห็นของนักเรียนผ่านเว็บไซต์ www.nataphol.com และช่องทางอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ขณะนี้การเปิดช่องทางร้องเรียนต่างๆผ่านมา 2 สัปดาห์แล้ว ซึ่งทุกเรื่องที่นักเรียนนำเสนอเข้ามาจากทุกช่องทางตนรับรู้และเห็นข้อมูลทั้งหมด
ซึ่งหลายเรื่องได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับทราบข้อมูลและให้ดำเนินการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน ซึ่งบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว และบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยตนมีความชัดเจนที่ต้องการรื้อระบบการศึกษา ซึ่งหลายเรื่องกว่าจะมีผลสำเร็จต้องใช้ระยะเวลา และตนเห็นด้วยกับทุกฝ่ายที่ต้องการเข้ามารื้อระบบการศึกษาไทยให้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องจากนักเรียนเรื่องการขอให้ยกเลิกการสอบโอเน็ตนั้นเมื่อเร็วๆนี้ตนได้หารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แล้ว เพื่อสรุปแนวทางปฏิบัติ รวมถึงแก้ไขข้อติดขัดต่างๆ หากมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการสอบ
แต่ขณะเดียวกันจำเป็นต้องหาหลักเกณฑ์การวัดผลอื่นๆเข้ามาทดแทนด้วย ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกการสอบในบางระดับชั้นหรือทุกชั้นหรือเลือกที่จะสอบ สำหรับช่องทางการสำรวจ ซึ่งเปิดให้มีการโหวตเรื่องการสอบโอเน็ต ผ่าน www.nataphol.com
ปรากฏว่า ในเบื้องต้นมีผู้เข้ามาร่วมโหวตมากกว่า 20,000 โหวต ซึ่งเสียงโหวตส่วนใหญ่กว่า 80% แสดงความคิดเห็นต้องการให้ยกเลิกการสอบโอเน็ต
นอกจากนี้ตนยังให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามนักเรียนในสถานศึกษา รวมถึงการถูกครูล่วงละเมิดทางเพศ เป็นอย่างมาก ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) สายด่วน 1579 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเว็บไซต์ www.nataphol.com
มีประโยชน์ต่อผู้ถูกกระทำ เพราะมีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก และการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ศธ. ได้ดำเนินการเอาผิดผู้กระทำความผิดได้ทันท่วงที และไล่ออกไว้ก่อน พร้อมยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครู รวมแล้วกว่า 16 กรณีจากอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีการดำเนินการแต่อย่างใด รวมถึงการคุกคามด้านอื่นๆ ในโรงเรียนก็ต้องให้มีความเข้มข้น เพราะโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยจากการคุกคาม
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาในทุกๆเรื่องนั้น สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับ นักเรียนและอีกหลายภาคส่วน และตนเชื่อมั่นว่านักเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมด้านปฏิรูปด้านการศึกษาไทยจนเกิดผลสำเร็จ โดยทุกการร้องเรียนตนจะเก็บเป็นความลับ ขอให้ทุกคนมั่นใจ เชื่อว่าข้อเรียกร้องของนักเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย โดยส่วนตัวเชื่อว่านักเรียนอาจไม่ได้คิดที่อยากจะออกไปชุมนุมด้วย เพราะข้อเรียกร้องที่มานั้นได้รับการแก้ไขแล้ว และบางเรื่องก็อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ขณะเดียวกันตนได้เน้นย้ำไปยังผู้อำนวยการสถานศึกษาทั่วประเทศให้เปิดรับฟังข้อร้องเรียน พร้อมทำความเข้าใจกับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้ คือเรื่องปากท้องของประชาชน และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ภายหลังจากนายณัฏฐพลได้มอบนโยบายให้ สพฐ. สั่งการให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน มีโรงเรียนทั้งสิ้น 1,015 โรงเรียน ใน 47 เขตพื้นที่การศึกษา มีนักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็นรวม 29,584 คน โดยแบ่งเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นระดับชั้นประถมศึกษาใน 18 เขตการศึกษา 176 โรงเรียน มีนักเรียนร่วมแสดงความเห็น 2,214 คน เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นระดับชั้นมัธยมศึกษาใน 29 เขตการศึกษา จำนวน 839 โรงเรียน นักเรียนแสดงความเห็น 27,344 คน รวมถึงโรงเรียนเฉพาะทาง 48 แห่ง ศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 ศูนย์ และโรงเรียนสงเคราะห์อีก 52 แห่ง
โดยมีประเด็นที่มีการแสดงความเห็นเป็นหัวข้อเดียวกันกับการชุมนุมของเด็กนักเรียนที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาด้านการเรียนการสอน ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบ การแข่งขันของคุณครูที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน ไม่เห็นด้วยกับการสอบโอเน็ต เนื่องจากบริบททางการศึกษาของแต่ละโรงเรียนและแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ปัญหาด้านเครื่องแบบนักเรียน และทรงผม ปัญหาการใช้พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย รวมถึงการปรับปรุงสภาพโรงเรียนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ส่วนการแสดงออกทางความคิดเห็น ต้องการให้ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นในมุมที่แตกต่าง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างวัย ประสบการณ์ และทัศนคติ