5 วิธีเช็คว่าลูกถูกทำร้ายที่โรงเรียนหรือไม่
จากกรณี สารสาสน์ราชพฤกษ์ ที่พบว่า ครูจุ๋ม และครูอีกหลายคนในโรงเรียนดังกล่าวทำร้ายร่างกายเด็ก เรื่องนี้อาจทำให้ผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนอื่นๆ กังวลว่าลูกตัวเองจะโดนทำร้ายแบบนี้หรือไม่?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย" โดยหมอเม้ง การ์ฟิลด์ ได้ให้คำแนะนำถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกหากโดนทำร้ายร่างกาย ดังนี้
5 วิธีเช็ค จะรู้ได้อย่างไรเมื่อลูกถูกทำร้าย ที่โรงเรียนหรือไม่
คำตอบคือ พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกหลานของตนเอง และควรหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ หลังจากที่กลับจากโรงเรียน โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ดังนี้
1. ถามลูกด้วยประโยคปลายเปิด เช่น ถามว่าไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เล่นอะไรกับเพื่อนบ้าง ครูสอนยังไงบ้าง วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่สบายใจอะไรบ้าง กลัวอะไรบ้าง มีเพื่อนมาแกล้งอะไรบ้าง รอยแผลนี้เกิดขึ้นได้ยังไง หรือถูกครูทำร้ายอย่างไรบ้าง เป็นต้น
2. ตรวจดูความผิดปกติตามร่างกายของลูก เช่น อาจพบมีรอยแผลแปลกๆ เช่น รอยหวดด้วยไม้ รอยฟกช้ำ หรือรอยขีดข่วนใต้ร่มผ้าต่างๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการถูกเพื่อนแกล้ง
3. ไม่ควรมองข้ามคำพูดของลูก เช่น การที่ลูกพูดว่าไม่อยากไปโรงเรียนนั้นต้องสังเกตดีๆ ว่านั่นเป็นเพราะว่าลูกขี้เกียจหรือไม่รับผิดชอบ หรือเป็นแค่ภาวะวิตกกังวลในการแยกจากพ่อแม่ การพูดกับลูก โดยถามเป็นประโยคปลายเปิดนั้น จะเป็นการหัดให้ลูกเล่าเรื่องบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถค้นเจอได้เร็วขึ้นว่าลูกถูกทำร้ายหรือไม่
4. สอนลูกให้กล้าพูดความจริง พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยว่าหากถูกใครทำร้ายที่โรงเรียนควรมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง โดยไม่ต้องกลัวใครขู่ เพราะพ่อแม่จะปกป้องไม่ให้ถูกทำร้ายซ้ำ
5. ผู้ปกครองต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา พ่อแม่ควรมีกลุ่มผู้ปกครองทั้งออนไลน์และในชีวิตจริง เพื่อช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีอาการแปลกๆ ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาจะได้รู้ได้เร็วขึ้น
เมื่อพบว่าลูกถูกทำร้ายร่างกาย พ่อแม่ควรจะทำอย่างไรต่อ
1. อย่างแรกพ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกจะปลอดภัยไม่โดนทำร้ายซ้ำ พ่อแม่จะไม่บังคับลูกไปโรงเรียนซ้ำถ้าปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าปลอดภัยจริงๆ
2. หากพบว่าปัญหาเกิดจากครูที่โรงเรียนทำร้ายจริง ควรแจ้งฝ่ายบริหารของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทำการตรวจสอบ แล้วจัดการตามความผิดเพื่อไม่ให้เด็กถูกกระทำซ้ำ
3. ถ้าพบว่าเด็กมีปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึกแล้วพ่อแม่ไม่สามารถจัดการได้ อย่าปล่อยปัญหานั้นไว้โดยคิดว่ามันจะหายเอง แต่ควรมองตัวช่วย เช่น พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อให้ประเมินและรับการช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถเยียวยาจิตใจเด็กได้ดีกว่าการปล่อยปัญหาไว้ยาวนาน
เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจะมีผลกระทบในชีวิตระยะยาว
จากเคสของโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ที่มีครูอนุบาลทำร้ายร่างกายเด็ก บางช่วงบางตอนของรายงานข่าวระบุด้วยว่า เด็กบางคนโดนลากไปทำร้ายในห้องน้ำเกิดอาการกลัวห้องน้ำไม่กล้าเข้าห้องน้ำ เด็กมีอาการฝันร้ายไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะกลัวการไปโรงเรียนและกลัวครู รวมถึงพฤติกรรมเด็กที่เดินไปตบหน้าพ่อเมื่อเรียกแล้วพ่อไม่หัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
อาการดังกล่าวเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องก็จะทำให้เด็กบางคนเลียนแบบความก้าวร้าว มีพฤติกรรมความรุนแรง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ หากเด็กมีการถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆ เป็นเวลายาวนานเด็กอาจจะเกิดบาดแผลภายในจิตใจไปอีกนาน และส่งผลกระทบอื่นๆ ดังนี้
1. เด็กมีบาดแผลทางจิตใจจนอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรค phobia เช่น กลัวครูโดยเฉพาะ
2. เด็กรู้สึกตนเองมีคุณค่าต่ำ มีความคิดลบต่อตัวเอง
3. เด็กมีอาการหวาดผวาหรือกลัวการถูกกระทำซ้ำ หลังจากเจอเหตุการณ์รุนแรงทั้ง acute stress disorder, post traumatic stress disorder หรืออาการซึมเศร้า เป็นต้น
สุดท้ายนี้ หากทุกฝ่ายทั้งทางโรงเรียนและทางผู้ปกครองช่วยกันสอดส่องดูแลคัดกรองครูอย่างดี โดยให้ประเมินสภาพจิตใจก่อนจะเข้าสอนและพ่อแม่ก็ช่วยกันสอดส่องว่าลูกๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในแง่ไม่ดีอย่างไรบ้าง ก็น่าจะเป็นการดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
เครดิตแหล่งข้อมูล : FB ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย