ซื้องานวิจัย ใส่ชื่อตนเองในงานคนอื่น ส่องบทลงโทษไทย vs ต่างประเทศ


ซื้องานวิจัย ใส่ชื่อตนเองในงานคนอื่น ส่องบทลงโทษไทย vs ต่างประเทศ


พระเจ้าลงโทษอย่างหนัก! กรณีนักวิจัยไทย "ซื้องานวิจัย" ของผู้อื่น แล้วแอบอ้างสวมชื่อตนเองลงไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงมือทำจริง เคสลักษณะนี้ในต่างประเทศเรียกว่า Plagiarism ซึ่งมีความผิดร้ายแรง ส่องบทลงโทษระหว่างไทย vs ต่างประเทศ เหมือนหรือต่างกัน?

ร้อนแรงชั่วข้ามคืน สำหรับประเด็นนักวิจัยไทย "ซื้องานวิจัย" จากต่างประเทศหลายชิ้น แล้วเอามาสวมชื่อตนเองใส่เข้าไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงมือทำผลงานเหล่านั้นจริง เรื่องนี้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการการศึกษาไทย และสะเทือนถึงความน่าเชื่อถือของวงการนักวิชาการ อาจารย์ และกลุ่มนักวิจัย

ยิ่งพอขุดลึกลงไปก็ยิ่งพบความผิดปกติชัดเจน คือ แต่เดิมในปี 2019 นักวิชาการคนนี้เคยมีงานวิจัยแค่ชิ้นเดียว แต่ถัดมาปี 2020 กลับมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นมากผิดปกติถึง 40 ชิ้น และเพิ่มเป็น 90 ชิ้น ในปี 2021 นำไปสู่การกระทำ "ทุจริต" โดยการนำเอาผลงานวิจัยเหล่านั้น ไปเบิกเงินค่าทำวิจัยกับต้นสังกัดสูงกว่าความเป็นจริง เช่น

ซื้องานวิจัยคนอื่นในราคา 30,000 บาท แต่เบิกเงินค่าทำวิจัยกับมหาวิทยาลัย 120,000 บาท ได้เงินส่วนต่าง 90,000 บาท เป็นต้น

ลองนับจำนวนดูเล่นๆ ว่า งานวิจัยที่ซื้อมาทั้งหมด เมื่อนำไปคูณกับจำนวนเงินส่วนต่างที่ได้จากการเบิกค่าทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นยอดเงินกว่า 8 ล้านบาทเลยทีเดียว

คำถามต่อมาคือ แล้วนักวิจัยที่ซื้องานวิจัยผู้อื่นร่วมกับมีการกระทำทุจริตอย่างในเคสนี้ ต้องโดนบทลงโทษทางวินัยอะไรบ้าง?

ล่าสุด.. มีข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) อธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว โดยตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ระบุว่า

ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการ เพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น

หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" พบว่ามีเคสลักษณะนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน และมีการอธิบายถึงบทลงโทษชัดเจน มีข้อมูลจากเว็บไซต์ Skandy.co กล่าวถึงการฉ้อฉลในรูปแบบ "Plagiarism" ที่หมายถึง การคัดลอกหรือการแอบอ้างผลงานทางวิชาการ โดยระบุไว้ว่า

มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา บริเตนใหญ่ ออสเตรเลีย และอินเดีย มีการลงโทษกรณีลอกเลียนผลงานวิชาการที่เข้มงวดและรุนแรง

หากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบว่า เอกสารวิจัยใดๆ ก็ตามที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น หรือไม่ใช่ต้นฉบับของจริงของผู้วิจัยที่ปรากฏชื่อบนผลงานนั้น ก็จะถูกลงโทษอย่างหนักและเข้มงวดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ไล่ออกจากมหาวิทยาลัย, ไล่ออกจากสังกัดงานบริการชุมชน รวมไปถึงต้องรับผิดทางอาญาตามกฎหมายอย่างการถูกจำคุกและเสียค่าปรับด้วย

ทั้งนี้ ระดับการลงโทษขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศที่คุณอาศัยอยู่ สำหรับในสหรัฐอเมริกา หากกระทำผิดในลักษณะนี้จะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย คือ จำคุกเป็นเวลา 1 ปี ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ และหากการลอกเลียนผลงานนั้นทำให้คุณได้รับเงินด้วย บทลงโทษก็อาจเพิ่มเป็น 10 ปี

ในประเทศอังกฤษ หากพบการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนใดๆ ก็ตาม (รวมถึงลอกเลียนงานวิชาการ/ซื้องานวิจัย) จะต้องขึ้นศาล และหากศาลพิจารณาว่ามีความผิดจริงก็จะมีโทษจำคุกหรือปรับสูงสุด 50,000 ดอลลาร์ หากงานที่ไม่ใช่ต้นฉบับสร้างกำไรให้กับผู้เขียน (มากกว่า 2,500 ดอลลาร์) ค่าปรับจะสูงถึง 250,000 ดอลลาร์ และเพิ่มโทษจำคุกเป็น 10 ปี

ขณะที่ ออสเตรเลีย หากตรวจสอบพบการคัดลอกหรือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเจตนาเกือบทุกชนิด จะนำไปสู่การเลิกจ้างและการไล่ออกทันที

บทลงโทษสำหรับกรณี Plagiarism นอกจากจะแตกต่างกันไปตามประเทศหรือรัฐที่อาศัยอยู่แล้ว ความรุนแรงของบทลงโทษยังขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ที่กระทำความผิดที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น นักเรียน นักข่าว นักเขียนคำโฆษณา นักวิชาการ ฯลฯ พูดได้ว่าระดับของการลงโทษขึ้นอยู่กับคุณวุฒิและวัยวุฒินั่นเอง

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนักเรียน/นักศึกษา ก็อาจจะมีการผ่อนโทษให้บ้างหากเป็นการทำผิดครั้งแรก ตัวอย่างเช่น The Cazenovia วิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์กได้พัฒนาระบบการลงโทษเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับ 1 : กระทำผิดครั้งแรก ด้วยการลอกผลงาน ลอกข้อสอบ แอบอ้างผลงานผู้อื่นเป็นของตน นักเรียนจะได้เกรดต่ำสุด (F) พร้อมต้องรับโทษด้วยการเข้าอบรมจริยธรรมในห้องเรียนพิเศษ

ระดับ 2 : กระทำผิดครั้งที่สอง นักเรียนจะต้องเรียนซ้ำทั้งหลักสูตร ความคืบหน้าด้านการเรียนทั้งหมดจะถูกยกเลิก

ระดับ 3 : กระทำผิดครั้งสามหรือมากกว่านั้น นักเรียนจะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย

ส่วนกรณีนักวิจัยไทย สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กำลังเป็นประเด็นเกี่ยวกับ "ซื้องานวิจัย" ในขณะนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทางมหาวิทยาลัยจะออกมาแถลงความคืบหน้าในการสืบสวน และแถลงบทลงโทษอย่างไรบ้าง

เครดิตแหล่งข้อมูล : bangkokbiznews



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์