ไทยเติบโตสูงสุดในอาเซียน รร.นานาชาติ สะพัดแสนล้าน


ไทยเติบโตสูงสุดในอาเซียน รร.นานาชาติ สะพัดแสนล้าน

ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยสะพัดแสนล้าน เติบโตสูงสุดในอาเซียน เฉลี่ยต่อปีเกิน 10% ตลาดแข่งขันสูง 'ทุนใหญ่' แห่ลุงทุนเพียบทั้ง ‘บีทีเอส ซีพี แบงก์กรุงเทพฯ สหพัฒน์' เหตุไทยทำเลดี อานิสงส์เด็กเกิดน้อย พ่อแม่มีกำลังซื้อเต็มที่เลือกโรงเรียนที่ดีที่สุด

มูลค่าตลาดแสนล้านบาท/ปี

นายปรมิตร ศรีกุเรชา อุปนายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนทุกแห่งมีอัตราการเติบโตมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่เติบโตมากขึ้น ยิ่งเปิดประเทศโรงเรียนนานาชาติในเมืองท่องเที่ยว เมืองหลวงใหญ่ๆ เติบโตถึง 100% แต่ถ้าโรงเรียนนานาชาตินอกเมืองจะเติบโต 10-50% แล้วแต่พื้นที่

"ภาพรวมโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ 170 กว่าแห่ง มีนักเรียนในเครือของสมาชิกประมาณ 80,000 คน มีครูประมาณ 8,000 คน โดยมูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติก่อนโควิด-19 ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาทต่อปี แต่หลังโควิด-19 เปิดประเทศเพิ่มมากว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่า ถ้ารวมโรงเรียนที่อยู่นอกสมาชิกสมาคม น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี" นายปรมิตร กล่าว

ธุรกิจการศึกษาแข่งขันสูงเหตุเด็กเกิดน้อย

ทั้งนี้ โรงเรียนนานาชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น 7-8% จากเดิมที่มีสมาชิกเพียง 100 กว่าแห่ง ขณะนี้ เพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 170 กว่าแห่ง และมีแนวโน้มการเปิดโรงเรียนใหม่เพิ่มอีก โดยแต่ละปีมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ 5-10 แห่ง

นายปรมิตร กล่าวอีกว่า อัตราการเกิดเด็กที่น้อยลง ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องแข่งขันมากขึ้นเรื่องคุณภาพ เพราะพ่อแม่มีกำลังซื้อสำหรับเด็กคนเดียวมากขึ้น จึงเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก จำนวนนักเรียนที่มากขึ้น ไม่เพียงนักเรียนต่างชาติ แต่ในแง่นักเรียนไทย ผู้ปกครองสนใจและส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น

นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นภาษาที่จำเป็นต่ออนาคต และตอนนี้โรงเรียนนานาชาติทุกโรงเรียนมีหลักสูตรภาษาจีนเข้าไปส่งเสริม ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งเสริมให้ธุรกิจนานาชาติเติบโตมากขึ้น และในส่วนของสมาคมผลักดันการศึกษามีการอบรม พัฒนาครูให้มี คุณภาพเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพต่อเด็ก

"ประเทศไทยมีที่ตั้งที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติล้วนมีคุณภาพมาตรฐาน เสถียรภาพเราค่อนข้างดี และปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวม ค่าเทอมในการเรียนที่ประเทศไทยไม่แพงมาก โรงเรียนนานาชาติมีคุณภาพและความพร้อมจึงเป็นทางเลือกหลักของผู้ปกครองทั้งไทยและต่างชาติประเทศ รวมถึง นักลงทุนต่างชาติที่ได้เข้ามาร่วมทุนกับโรงเรียนนานาชาติ" นายปรมิตร กล่าว

ทุนใหญ่กระโดดสู่ตลาด"รร.นานาชาติ"

การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ ยังถือเป็นอีกช่องทางที่ภาครัฐสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะเมื่อรัฐบาลส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเปิดให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาในไทย ควรจะสนับสนุนการเปิดโรงเรียนนานาชาติในไทย

ปัจจุบัน มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น เช่น กลุ่มคันทรีกรุ๊ป กลุ่มสหพัฒน์ และกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป กลุ่มธนาคารกรุงเทพ เพราะโรงเรียนนานาชาติยังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีอัตราค่าเทอมหลายระดับ โดยเฉพาะตลาดล่างที่เริ่มขยายตัวชัด ทำให้จำนวนนักเรียนเข้าเรียนมากขึ้น

"ตอนนี้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ สนใจโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น ทำให้ไทยมีการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเมื่อมีการแข่งขันสูง นั่นหมายถึงทุกโรงเรียนนานาชาติต้องพัฒนาโรงเรียนของตนเองให้ได้มาตรฐาน และมีจุดขายของแต่ละโรงเรียนอย่างชัดเจน แข่งขันกับด้วยหลักสูตร ความพร้อมของครู นวัตกรรม เทคโนโลยีการศึกษา และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม" นายปรมิตร กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐ ปัจจุบันได้สนับสนุนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น เช่น การให้วีซ่าครูต่างชาติ ใบอนุญาตทำงาน (เวิร์กเพอร์มิต) และมีการส่งเสริมให้สมาคมโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนนานาชาติไปออกบูท กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนในไทย ส่วนเรื่องกฎหมายคาดว่าคงต้องใช้เวลาในการพัฒนา

เติบโตเฉลี่ยเกิน 10%ของทุกปี

ผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนเด่นหล้า บริติช สคูล (DENLA BRITISH SCHOOL: DBS) กล่าวว่า ภาพรวมโรงเรียนนานาชาติใน 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยเกิน 10% ทุกปี เพราะผู้ปกครองไทยต้องการให้ลูกได้เรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น

โรงเรียนนานาชาติในไทยมีการกระจายอยู่ทั่วประเทศ 200 กว่าแห่ง เป็นโรงเรียนระดับพรีเมียม 73 แห่ง หรือคิดเป็น 36% โดย 70% จะอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ส่วน 30% จะตั้งอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เกาะสมุย เป็นต้น

"ผู้ปกครองสมัยใหม่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเรียนการสอน และมองหาโรงเรียนดีๆ ให้แก่ลูก ผู้ปกครองพร้อมลงทุนด้านการศึกษาเพื่อลูกมากขึ้น อีกทั้งผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงาน หรือมาลงทุนในไทย ซึ่งมีทั้งกจีน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ที่ได้มาทำงานในเมืองไทย เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติในไทยมีมาตรฐานสูงแต่ค่าใช้จ่าย ค่าเทอมไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ" ผศ.ดร.ต่อยศ กล่าว

ทั้งนี้ 5-7 ปี ที่ผ่านมา มีโรงเรียนนานาชาติเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น "โรงเรียนเด่นหล้า บริติช สคูล DBS" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 650 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงซีเนียร์ สคูล และในปีการศึกษานี้มีแผนจะขยายเปิดรับนักเรียนม.ปลาย

ผศ.ดร.ต่อยศ กล่าวต่อว่า DBS มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย double ยกเว้นช่วงโควิดที่มีการชะลอตัวของนักเรียนบ้างแต่ไม่กระทบ โดยขณะนี้ DBS ได้พัฒนาช่วงเฟส มีการเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ 20,000 กว่าตร.ม. มีอาคารระดับมัธยมปลาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยสนับสนุนนักเรียนทุกด้าน

ปัจจัย-ความท้าทายโรงเรียนนานาชาติ

ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนเด่นหล้า บริติช สคูล กล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติในไทย มีนักลงทุนต่างชาติ อย่าง นักลงทุนจีนเข้ามาร่วมทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้ปกครองชาวจีนก็สนใจให้ลูกหลานมาเรียน เนื่องจากสภาพแวดล้อม หลักสูตรมีคุณภาพ อาหารการกิน ค่าครองชีพไม่แพงเมื่อเทียบกับการเรียนโรงเรียนนานาชาติในจีน

"สัดส่วนนักเรียนของ DBS เป็นนักเรียนไทย 70% นักเรียนต่างชาติ 30% ซึ่งหลังเปิดประเทศโดยเฉพาะจีน มีผู้ปกครองชาวจีนติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การเปิดรับนักเรียนจะรับเพียงเชื้อชาติใด หรือจากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ การเปิดรับนักเรียนจึงมาจากทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ" ดร.เต็มยศ กล่าว

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อยลง เหลือเพียงปีละ 500,000 คน โรงเรียนนานาชาติต้องปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติของไทยได้รับความนิยมมี 7 ประเด็น ได้แก่

1.หลักสูตรได้มาตรฐาน และหลากหลายให้ได้เลือก ทั้งหลักสูตรจากฝั่งยุโรป อังกฤษ หรือหลักสูตรสหรัฐอเมริกา

2.การเดินทางมาไทย หรืออาศัยอยู่ไทยสะดวก

3.ไทยค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

4.ค่าเทอมเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าไม่สูงมาก ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติของไทยเติบโตสูงสุดในภูมิภาคนี้

5.ครูผู้สอนส่วนใหญ่เป็นครูต่างชาติทั้งหมด

6.สภาพแวดล้อมดี

7.การเรียนการสอนที่มีความเฉพาะทาง เน้นความเป็นนานาชาติและยังคงความเป็นไทย

แข่งขันสูง 3 หลักสูตรยอดนิยม

ผศ.ดร.ต่อยศ กล่าวต่อว่า โรงเรียนในเมืองไทยมีประมาณ 30,000 กว่าโรงเรียน เป็นโรงเรียนรัฐ 80% โรงเรียนเอกชน 17% และโรงเรียนนานาชาติประมาณ 3% ซึ่งโรงเรียนแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งโรงเรียนนานาชาติ จะอิงกับหลักสูตรจากต่างประเทศ

"หลักสูตรยอดนิยมโรงเรียนนานาชาติมีทั้งหมด 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรจากประเทศอังกฤษ หลักสูตรจากประเทศอเมริกา และหลักสูตร IB จากประเทศเยอรมนี โดยทั่วไปพ่อแม่ที่กำลังเลือกโรงเรียน หลักสูตร เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองจะเลือกให้เหมาะกับเด็ก โรงเรียนนานาชาติจึงมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และแข่งกันด้วยคุณภาพ" ผศ.ดร.ต่อยศ กล่าว

หลักสูตรประเทศท็อป3ขวัญใจเด็กไทย

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำรวจความคิดเห็นเด็กไทยในงานมหกรรมศึกษาต่อต่างประเทศ OCSC International Education Expo 2022 พร้อมกับเปิดโพลประเทศสุดฮอตที่เด็กไทยสนใจอยากไปเรียนต่อมากที่สุด

ผลปรากฏว่า10 ประเทศสุดฮอต ได้แก่ 1.อังกฤษ 12.04% 2.ออสเตรเลีย 10.90% 3.สหรัฐอเมริกา 10.76% 4.แคนาดา 8.12% 5.นิวซีแลนด์ 5.57% 6.สวิตเซอร์แลนด์ 5.46% 7.เยอรมนี 5.27% 8.ญี่ปุ่น 4.92% 9.สิงคโปร์ 4.53% และ 10.เนเธอร์แลนด์ 3.84%

ส่วนหลักสูตรประเทศท็อปทรีที่เด็กไทยอยากไปเรียนมากที่สุด 1.อังกฤษ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นเรียกว่า Key Stage (KS) เมื่อจบแต่ละขั้นครูจะประเมินผลการเรียนของเด็กๆ เริ่มต้นจาก ปฐมวัย อายุ 3-5 ปี สอนผ่านการเล่นและเกม เนื้อหาครอบคลุมการสื่อสารและภาษา การพัฒนาทางกายภาพ การพัฒนาส่วนบุคคล สังคม และอารมณ์ การอ่านและเขียน คณิตศาสตร์ การเข้าใจโลกภายนอก การแสดงออกทางศิลปะและการออกแบบ

ถัดมาเป็น KS1 อายุ 5-7 ปี และ KS2 อายุ 7-11 ปี วิชาที่ต้องเรียน ได้แก่ อังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การออกแบบและเทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ ดนตรี การพัฒนาทางกายภาพ เช่น ว่ายน้ำ คอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศทั้งโบราณและสมัยใหม่

KS3 อายุระหว่าง 11-14 ปี วิชาส่วนใหญ่เหมือนกับ KS2 วิชาภาษาโบราณไม่ได้เรียนแล้วแต่จะมีวิชาพลเมือง (Citizenship) มาแทน KS4 อายุระหว่าง 14-16 ปี เด็กๆ จะได้เรียนหลักสูตร GCSE (General Certificate of Secondary Education) เด็กๆ มีโอกาสเลือกวิชาที่ตนอยากเรียนและสอดคล้องกับสาขาที่ต้องเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

2.ออสเตรเลีย ซึ่งจะเริ่มใช้หลักสูตรเวอร์ชัน 9 โดยหลักสูตรกำหนดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นที่นักเรียนต้องรู้ และคุณภาพการเรียนที่นักเรียนจะได้รับในช่วง 11 ปีแรกในโรงเรียน วิชาที่สอน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สุขภาพและพัฒนาการทางกายภาพ, มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่น วิชาหน้าที่และความเป็นพลเมือง เศรษฐศาสตร์และธุรกิจ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์, ศิลปะ เช่น เต้นรำ ละคร สื่อศิลปะ ดนตรีและทัศนศิลป์, เทคโนโลยี เช่น ออกแบบและเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยี, ภาษา

3.สหรัฐฯ การเรียนในสหรัฐจะเรียกชั้นต่างๆ ว่า Grade ขณะที่อังกฤษเรียกว่า Year แต่ทั้งสองประเทศใช้เวลาเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยรวม 16 ปีเท่ากัน ระบบโรงเรียนสหรัฐแบ่งออกเป็นสี่ช่วง ได้แก่ อนุบาล อายุ 4-6 ปี, ประถม เกรด 1-5 อายุ 6-11 ปี, มัธยมต้น เกรด 6-8 อายุ 11-14 ปี, มัธยมปลาย เกรด 9-12 อายุ 14-18 ปี

ในระดับอนุบาล จะได้เรียนรู้เรื่องแนวคิดการเขียนด้วยตัวพิมพ์ ตัวอักษร ตัวเลขพื้น การเข้าสังคมในโรงเรียน ระดับประถมต้นเรียนการอ่าน คณิตศาสตร์พื้นฐาน และแนวคิดพื้นฐานของวิชาต่างๆ จากนั้นเรียนในหัวข้อที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งเปิดโอกาสการเรียนรู้ในวิชาอื่นที่ไม่ใช่วิชาหลัก

ส่วนเกรด 6-8 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากนักเรียนประถมสู่ไฮสคูล ช่วงชั้นนี้นักเรียนจะเริ่มเลือกได้บางวิชา และลงลึกที่ไม่ใช่วิชาหลัก ส่วนมัธยมปลาย (เกรด 9-12) หลักสูตรประกอบด้วยวิชาหลากหลาย รวมถึงโครงการพิเศษซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งมีข้อกำหนดต่อนักเรียนแตกต่างกันไป



ไทยเติบโตสูงสุดในอาเซียน รร.นานาชาติ สะพัดแสนล้าน


เครดิตแหล่งข้อมูล :
bangkokbiznews


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์