สร้างพื้นที่ปลอดภัยกับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ
ความหลากหลายทางเพศกับพื้นที่ปลอดภัยที่เราควรมีให้เยาวชน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกเปิดเป็นประเด็นเพื่อให้สังคมตระหนัก และเห็นถึงปัญหาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายต้องเผชิญรวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ หลายครั้งบาดแผลของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเรียน เพราะเป็นเรื่องที่ยังขาดความเข้าใจและไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร สังเกตได้จากความรุนแรงของการหยอกล้อ กลั่นแกล้ง รังแกกันในหมู่นักเรียน หรือเป็นความรุนแรงจากวัฒนธรรมที่ยังเข้าใจในความแตกต่างไม่มากพอ แล้วเราจะเรียกว่าสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนเต็มปากได้อย่างไร
โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยและต้อนรับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม
นักเรียน LGBTQ+ ส่วนมากถูกบังคับให้ต้องปิดบังตัวตนเมื่ออยู่กับครอบครัว ทำให้บ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยจนทำให้เกิดความกังวล จนเกิดภาวะซึมเศร้า สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกมุมโลก เช่น ในปี 2563 สหรัฐอเมริกาพบว่าเยาวชน LGBTQ+ 42% คิดฆ่าตัวตาย 70% มีสุขภาพจิตแย่ในช่วงระบาดใหญ่ และ 48% ต้องการคำปรึกษาและมีเพียง 1 ใน 3 บอกว่าบ้านของเขาเป็นมิตรกับ LGBTQ+ ดังนั้นโรงเรียนจึงควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนทุกคนได้รับความสบายใจ ที่จะเปิดเผยตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่เขาต้องการแสดงออก
ครูสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้นักเรียน LGBTQ+ ได้อย่างไร?
ติดป้ายแสดงพื้นที่ปลอดภัย: ครูสามารถกำหนดให้ห้องเรียนเป็น "เขตปลอดภัย" ได้ผ่านสติกเกอร์หรือโปสเตอร์ที่ประตูห้องเรียน สิ่งนี้ส่งผลให้นักเรียนรู้ว่าครูของเขาเป็นมิตรกับ LGBTQ+ และเต็มใจที่จะปกป้อง ยืนหยัด หยุดการล่วงละเมิดและเคียงข้างพวกเขา
*นอกจากนี้ AFT (American Federation of Teachers) ระบุว่าสติกเกอร์โซนปลอดภัยช่วยให้นักเรียนรู้ว่าครู ที่ปรึกษา และผู้บริหาร เปิดกว้างสำหรับการอภิปรายปัญหา LGBTQ+ ในบริบทของงานในชั้นเรียนหรือในการสนทนา และรู้สึกยินดีที่มีครูคอยอยู่เบื้องหลังของพวกเขา
รวมหัวข้อ LGBTQ+ เข้ากับหลักสูตร: ครูสามารถสอดแทรกเรื่องราวกลุ่ม LGBTQ+ และหัวข้อต่าง ๆ เข้ากับบทเรียนได้ เช่น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศิลปะ สามารถสอดแทรกบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น Harvey Milk (นักการเมือง) หรือ Alan Turing (นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์) เพื่อให้นักเรียนสามารถเห็นตัวเองในบทเรียนของพวกเขา และให้นักเรียนทุกคนมีความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับโลกรอบตัวได้
การพูดเกี่ยวกับ LGBTQ+: ปัญหาของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเสมอไป แต่ควรมุ่งไปที่ตัวตนของบุคคลว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร ให้ความรักกับใคร และเขาเป็นใคร ซึ่งในแง่มุมของอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพครูสามารถแบ่งปันมุมมองที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียนได้ว่าการเป็น LGBTQ+ มีความหมายอย่างไร
เชื่อความตั้งใจเชิงบวกของครูเอง: การสนับสนุนที่อาจไม่สมบูรณ์ ย่อมดีกว่าการยืนดูเงียบ ๆ ครูระดับชั้นประถมศึกษาคนหนึ่งเคยเล่าถึงความลำบากใจของเธอหลังจากถามนักเรียนว่า เธออยากใช้สรรพนามผู้ชายหรือไม่ หลังจากที่ถามออกไปครูถึงกับหน้าแดงและรู้สึกว่าคำถามนั้นฟังดูงี่เง่าแค่ไหน แต่นักเรียนของเธอกลับเข้าใจความเห็นอกเห็นใจที่แท้จริงซึ่งอยู่ภายใต้คำถามของเธอ เธอกล่าวว่า "แม้คำพูดไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย แต่เมื่อใจอยู่ในที่ที่ถูกต้อง นักเรียนจะเข้าใจสิ่งนี้"
ดังนั้นการส่งสัญญาณสร้างการรับรู้ถึงความหลากหลายทางเพศ สามารถเริ่มได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียน โดยครูต้องเป็นผู้หยิบยื่นให้บทบาทกับนักเรียน LGBTQ+ เพื่อให้พวกเขามีความมั่นใจตนเองและแน่ใจได้ว่าพวกเขาปลอดภัย ไม่ได้อยู่คนเดียว ผิดปกติ หรือไม่สบาย เท่าเทียมกับทุกคน และแม้การสร้างห้องเรียนแบบมีส่วนร่วมอาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ครูควรปลูกฝังให้นักเรียนเกิดการรับรู้และเข้าใจ ยอมรับความแตกต่าง เพื่อไม่ให้มีใครต้องสร้างความเจ็บปวดและได้รับผลกระทบจากบาดแผลที่สาหัสในวัยเด็ก
เครดิตแหล่งข้อมูล :aksorn
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!