เด็กสิงคโปร์ครองอันดับ 1 ผลสอบ PISA ปีล่าสุด นักเรียนไทยวิกฤติ
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปีในประเทศที่เข้าร่วม ทุก ๆ 3 ปี โดยในปีนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 81 ประเทศ
สำหรับผล PISA ปี 2022 นักเรียนที่มาจากประเทศหรือพื้นที่เหล่านี้ทำข้อสอบได้อย่างโดดเด่นได้แก่ มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเอสโตเนีย โดยนักเรียนจากพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมดอยู่ใน 10 อันดับสูงสุดในหมวดหมู่การประเมินทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการอ่านอย่างไรก็ตาม ผลการประเมินโดยเฉลี่ยในภาพรวมของปี 2022 พบว่าประสิทธิภาพของสมรรถนะเด็กในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ OECD ลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ส่วนนักเรียนไทย พบว่าทุกทักษะทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี
การอ่าน
สมรรถนะด้านการอ่าน สิงคโปร์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอีก 9 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจตามลำดับ ได้แก่ ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เอสโตเนีย, มาเก๊า, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์
สำหรับประเทศ/ เขตเศรษฐกิจ ที่ได้ 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ โมร็อกโก, อุซเบกิสถาน และกัมพูชาประเทศและเขตเศรษฐกิจยุโรปส่วนใหญ่อยู่ในอันดับกลาง ๆ โดยสหราชอาณาจักร มีผลประเมินอยู่ในอันดับที่ 13 ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2018
ส่วนกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ประเทศชิลี อยู่ในอันดับสูงสุดของทวีป และเป็นอันดับที่ 37 จากประเทศทั้งหมดที่เข้ารับการประเมิน
ส่วนไทย ทักษะการอ่านอยู่ที่ 64 จาก 81 ประเทศ เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 34) บรูไน (อันดับ 44) และมาเลเซีย (อันดับ 60)
คณิตศาสตร์
ความรู้ด้านคณิตศาสตร์สิงคโปร์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย มาเก๊า, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เอสโตเนีย, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา และนิวซีแลนด์ ส่วนอันดับที่ 10-20 เป็นนักเรียนจากกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 14
ส่วนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 34
สำหรับเด็กไทย ทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อับดับ 31) บรูไน (อันดับ 40) และมาเลเซีย (อันดับ 54)
วิทยาศาสตร์
สำหรับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่งอีกเช่นกัน ตามด้วยอันดับที่ 2-10 ได้แก่ ญี่ปุ่น, มาเก๊า, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, เอสโตเนีย, ฮ่องกง, แคนาดา, ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย
สหราชอาณาจักร ได้อันดับที่ 15 สหรัฐอเมริกา อันดับที่ 16 โดยประเทศยุโรปส่วนใหญ่ผลคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง
สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 35) บรูไน (อันดับ 42) และมาเลเซีย (อันดับ 52)
สถานการณ์ของเด็กไทย แย่ลงทุกทักษะ
สำหรับผลคะแนนการทดสอบ PISA ของเด็กนักเรียนไทยประจำปี 2022 พบว่าแย่ลงในทุกทักษะเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน ทั้งด้านคณิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดย PISA ระบุว่าในการทดสอบครั้งล่าสุดนี้ คะแนนเฉลี่ยในทุกทักษะของเด็กไทยต่ำที่สุดกว่าการทดสอบครั้งก่อน ๆ นับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 2000
นอกจากนี้ หากดูเฉพาะช่วง 10 ปีหลังสุด (2012-2022) จะพบว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยลดลงไปกว่า 30 คะแนน ส่วนคะแนนด้านการอ่านลดลงไปกว่า 60 คะแนน ซึ่งเป็นช่วงคะแนนที่มากกว่าที่ปกติเด็กคนหนึ่ง ๆ จะได้รับจากการเรียนตลอด 1 ปีเสียอีก
เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ยังพบด้วยว่า ทักษะทั้ง 3 ด้านของเด็กนักเรียนไทยยังด้อยกว่านักเรียนจากกลุ่มประเทศ OECD และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ก็พบว่าเด็กไทยมีทักษะทั้ง 3 ด้านด้อยกว่าเด็กในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ทั้งหมด
ผลคะแนนตกลงในภาพรวม
ผลการประเมิน PISA ล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าคะแนนด้านการอ่านของนักเรียนที่เข้าร่วมลดลง 10 คะแนน ส่วนความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ลดลงเกือบ 15 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินเมื่อปี 2018
"ตัวเลขนี้เท่ากับค่าของการเรียนรู้ 3 ใน 4 ของปี" PISA ระบุ "แต่การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากโรคระบาดโควิด-19 เพียงบางส่วนเท่านั้น"
ส่วนคะแนนด้านการอ่านและความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นลดลงมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
โปรแกรมการประเมินสมรรถนะของ PISA เริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2000 และมีการประเมินทุก ๆ 3 ปี แต่ในการประเมินของปี 2021 ถูกเลื่อนมาเป็นปี 2022 ซึ่ง OECD ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการสะท้อนภาวะความยากลำบากหลังการระบาดของโควิด-19
ใครเข้าร่วมทดสอบบ้าง
นักเรียนจากแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมทดสอบสมรรถนะจะมีจำนวนที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ
สำหรับการสอบ PISA ประจำปี 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมทดสอบเกือบ 700,000 คน
ในบางทวีปอย่างประเทศในแถบแอฟริกา ตูนิเซียเป็นประเทศเดียวที่ร่วมทดสอบมาเป็นเวลาหลายปี แต่กลับไม่ได้เข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2018
ส่วนเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน เข้าร่วมทดสอบเป็นเมืองแรกในปี 2009 ตามด้วย ปักกิ่ง, เจียงซู และกวางตุ้ง ในปี 2015 แต่ต่อมาเมืองเจ้อเจียง เข้ามาแทนเมืองกวางตุ้งในปี 2018
อย่างไรก็ตาม นักเรียนจีนเคยทำคะแนนวัดสมรรถนะได้เป็นอันดับหนึ่งใน 3 ด้าน เมื่อครั้งที่แล้ว แต่ในรอบปี 2022 จีนไม่ได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการประเมิน
ช่องว่างระหว่างชาย-หญิง
เมื่อดูผลการทดสอบโดยเฉลี่ยของปี 2022 เปรียบเทียบโดยใช้เกณฑ์ระหว่างเพศหญิงชาย พบว่าคะแนนความรู้ทางคณิตศาสตร์ของเด็กนักเรียนชายสูงกว่านักเรียนหญิง 9 คะแนน แต่เด็กผู้หญิงมีคะแนนด้านการอ่านสูงกว่าเด็กผู้ชาย 24 คะแนน
ผลการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ของประเทศส่วนมาก ไม่ปรากฏว่าช่องว่างระหว่างเพศชายและหญิงมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2018-2022 เนื่องจากทั้งนักเรียนหญิงและชายมีคะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ลดลงพอ ๆ กัน
เมื่อดูภูมิหลังของนักเรียนที่เข้ารับการทดสอบ PISA พบว่า นักเรียนในกลุ่มที่ไม่มีสถานะเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มที่จะทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนที่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ในทุก ๆ วิชา อย่างไรก็ตาม ผลเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกประเทศ ทั้งนี้ นักเรียนที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพมักจะมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดีเท่าเพื่อนที่ไม่ใช่ผู้อพยพ
ข้อสอบ PISA ทดสอบอย่างไร
แบบทดสอบของ PISA แบ่งเป็นข้อสอบปรนัยกาตัวเลือก 2 ส่วน และข้อสอบอัตนัยหรือคำถามปลายเปิดอีก 1 ส่วน โดยมีนักเรียนจำนวนไม่มากของแต่ละโรงเรียนที่ได้ตอบแบบทดสอบชุดเดียวกัน
เหตุที่ PISA ออกแบบประเมินเช่นนี้ เพราะต้องการวัดผลทางด้านสมรรถนะและทักษะโดยรวม ดังนั้น จึงต้องมีชุดคำถามในจำนวนที่มากกว่าที่เด็กคนเดียวจะสามารถตอบได้ (ถ้าทำข้อสอบทั้งหมดคนเดียวต้องใช้เวลา 4.30 ชั่วโมง) และกระจายข้อสอบไปในชุดกระดาษคำถามคละกันไป
หลังจากนั้น PISA จะใช้ตัวแบบทางสถิติประเมินศักยภาพแอบแฝงของนักเรียนแต่ละคน PISA ยังใช้วิธีคาดการณ์คำตอบของนักเรียนแต่ละคนว่านักเรียนจะสามารถตอบคำถามได้มากน้อยแค่ไหน หากได้รับชุดคำถามทั้งหมดไป
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!