เหตุจากจิตใจ จึงไม่เกิดระเบียบวินัยในห้องเรียน
บทความการศึกษา อจท: หลายครั้ง ‘ระเบียบวินัย' ในห้องเรียน เกิดจากการดุด่าและสั่งห้ามของครู ท้ายที่สุดอาจทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกอยากต่อต้าน ครูควรละทิ้งความเชื่อเก่าๆ เปลี่ยนมาสร้างความไว้ใจและวินัยเชิงบวกในห้องเรียน เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิและโฟกัสกับการเรียนได้ดีขึ้น
3 วิธีง่ายๆ ที่ครูควรแสดงออกให้เด็กรู้ว่าครูก็แคร์ คือ เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กทุกคน-เติมเต็มความภาคภูมิใจ-สื่อสารความแคร์อย่างตรงไปตรงมา "เมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แทนที่จะลงโทษเพื่อหวังเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียน ครูควรมองมุมใหม่ด้วยการหาคำตอบว่า อะไรเป็นเหตุผล ความเชื่อให้เด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าว แล้วหาทางแก้ไขจากจุดนั้น"
ระเบียบวินัยเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการฝึกฝน เป็นเรื่องของการเคารพ เชื่อฟังและทำตามกฎระเบียบ ปัญหาก็คือหลายครั้งความมีระเบียบวินัยที่เกิดขึ้น มาจากความรู้สึกไม่เห็นด้วย เหมือนโดนบังคับให้ทำทั้งที่ไม่อยากทำ ความรู้สึกเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีเรื่องของ ‘การห้าม' หรือ ‘คำสั่ง' เข้ามาเกี่ยวข้อง
ยิ่งห้าม ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน ทั้งที่แสดงออกและไม่แสดงออก ข้อมูลจากการศึกษาโดย สมาคมสุขภาพ การวิจัยและสวัสดิการแห่งอินเดีย (Indian Association of Health, Research and Welfare) เผยแพร่ในวารสารจิตวิทยาเชิงบวกของอินเดีย (Indian Journal of Positive Psychology) บอกว่า การสร้างวินัยเชิงบวกควรเป็นเรื่องของการส่งเสริม ให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ทำ มากกว่าการห้าม
งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนเป็นแรงจูงใจและแรงกระตุ้นชั้นเยี่ยมให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในห้องเรียน แทนการนั่งเหม่อลอย หรือมองดูเวลาว่าเมื่อไหร่จะหมดคาบเรียน
"เมื่อเราเข้าใจพัฒนาการทางความคิดของเด็ก เราจะเข้าใจว่าทำไมเด็กถึงมีพฤติกรรมแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ เมื่อเราเข้าใจพัฒนาการทางสังคมของเด็ก เราจะเข้าใจเหตุผลได้ดีขึ้นว่าทำไมแรงจูงใจหรือแรงกระตุ้นในตัวเด็กถึงได้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามปัจจัยภายนอก"
สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในส่วนนี้ได้ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทักษะสำคัญที่เด็กควรมีในยุคนี้ คือ การรู้จักควบคุมตัวเอง (self-control) ในสถานการณ์ต่างๆ บนพื้นฐานของการมีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบ และเชื่อมั่นว่าตนเองมีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่
การส่งเสริม ให้กำลังใจ และสนับสนุน (encouragement) จากบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะจากโรงเรียน พื้นที่ที่เด็กๆ ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยอย่างเต็มที่ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการปูพื้นฐานการใช้ชีวิตให้กับนักเรียน ทั้งด้านความรู้และทักษะชีวิต การส่งเสริม ให้กำลังใจ และสนับสนุนจะช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนลงมือทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความกลัว เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ทำ หรือที่เรียกว่า ‘เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก'
ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือชุดความรู้ทฤษฎีใดได้จากการทดลองเพียงครั้งเดียว หากเด็กได้ลองผิดลองถูก กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง คือ ความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem)
เด็กจะเกิดความรู้สึกมั่นใจว่า "ฉันมีความสามารถและจัดการชีวิตตัวเองได้" ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ แม้จะเป็นนามธรรมแต่ก็เป็นกุญแจสำคัญทำให้พวกเขา "เห็นคุณค่าในตัวเอง" เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีส่วนปลูกสร้างตัวตนของเด็ก เราจะส่งเสริมวินัยเชิงบวกในโรงเรียนด้วยวิธีไหนได้บ้าง? มั่นใจได้อย่างไรว่าวิธีการนี้มีประสิทธิภาพ? แล้ววิธีการดังกล่าวสามารถช่วยแก้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของนักเรียนได้หรือไม่? บทความนี้มีคำตอบ
หน้าที่ของครูไม่ได้มีแค่ ‘การสอน' แต่ครูมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เพราะต้องเป็นทั้งนักสังเกตการณ์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ดูแล และให้ความรู้แก่นักเรียน บทบาทของครูจึงเป็นเรื่องท้าทาย ยิ่งเมื่ออยากให้นักเรียนอยู่ในระเบียบ และอยากสร้างวินัยเชิงบวก ครูต้องเข้าใจนักเรียนทุกคน เพราะแต่ละคนมีความต่างและมีพื้นฐานครอบครัวไม่เหมือนกันเลย
ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ ‘ครู'เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และสร้างวินัยให้กับนักเรียน ครูต้องเปิดใจและพิจารณาตัวเองก่อน
เพราะอะไร...?
เพราะสิ่งที่ครูมองว่าเป็นปัญหา เช่น นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน ไม่ทำการบ้าน และหนีเรียน สาเหตุอาจมีที่มาจากตัวครูเอง!เป็นไปได้หรือไม่ว่า ห้องเรียนของครูน่าเบื่อ เด็กไม่ได้มีส่วนร่วมคิดหรือแสดงความคิดเห็นหรือเปล่า?
การเรียนการสอนของครูควรกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ลืมบรรยากาศห้องเรียนแบบนั่งอยู่กับโต๊ะ แล้วจดตามกระดานไปได้เลย ยิ่งครูฉายเดี่ยวให้นักเรียนแสดงออกน้อยเท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งออกนอกลู่นอกทางมากเท่านั้น
อย่างที่บอก ก่อนครูจะตำหนิ หรือลงโทษพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน ครูควรมองให้ลึกเพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมเหล่านั้น
พวกเขาต้องการเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า? ครูบังคับนักเรียนเกินไปไหม? จนทำให้พวกเขาต่อต้านด้วยการพยายามแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีตัวตนในสายตาคนอื่น เช่น การแหกกฎ หรือตั้งกลุ่มแก๊งคอยแกล้งเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
หนักกว่านั้น หากการเรียกร้องความสนใจใช้ไม่ได้ผล การพยายามสร้างตัวตนก็ยังไม่ได้ อาจนำมาสู่การใช้ความรุนแรงและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น คราวนี้ไม่เฉพาะกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน แต่กับครูด้วย
แม้แต่ความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น แล้วหลบหลีกการมีส่วนร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน ก็นำมาสู่การตัดสินตัวเองว่า ‘ฉันทำไม่ได้หรอก!' ‘ทำไมเราไม่ได้เรื่องเลย' ความคิดแบบนี้จะทำให้เด็กไม่สนใจเรียน ไม่ทำการบ้าน จนทำให้เด็กคนหนึ่งล้มเหลวในการเรียนได้
ด้วยเหตุนี้ ครูจึงควรเปิดพื้นที่ทั้งในห้องเรียนและในโรงเรียนให้นักเรียนทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่ง และมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอน ทำให้พวกเขารู้สึกว่า
หนึ่ง พวกเขามีความสามารถ (capable) ทำงานสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย ตรงตามความต้องการของชั้นเรียนและโรงเรียน จุดนี้ครูต้องมอบหมายให้เด็กทำงานตามที่ตนเองถนัดและสนใจ
สอง พวกเขาต้องรู้สึกว่าสามารถสื่อสารกับครูได้เสมอ และมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นทีมเดียวกัน (connect)
สาม ทำให้พวกเขารับรู้และเข้าใจว่า ไม่ว่างานที่ได้รับมอบหมายให้ทำคืออะไร มากน้อยแค่ไหน แต่งานทุกงานมีความสำคัญต่อภาพรวม จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ (contribute) สร้างความไว้วางใจในห้องเรียน
เมื่อนึกถึงโรงเรียนเรามักจินตนาการเห็นครูผู้น่าเกรงขาม คอยห้ามปรามนักเรียน มากกว่าครูใจดีที่เป็นเพื่อนเล่นเพื่อนคุยกับนักเรียนได้ แต่อย่างที่บอก ลืมการตำหนิ การคาดโทษ การตัดคะแนนความประพฤติหรือจิตพิสัยอย่างที่ทำกันอยู่ทั่วไปไปได้เลย เพราะการสร้างวินัยเชิงบวกต้องอาศัย การสื่อสารกันบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน (reciprocal respect) ระหว่างครูกับนักเรียน
‘เด็กจะแคร์ คนที่แคร์เขา' ยิ่งเด็กรู้สึกว่าครูสนใจและเอาใจใส่พวกเขา เด็กจะยิ่งให้ความเคารพครู เหตุผลทางจิตวิทยา คือ เราต่างอยากเป็นคนสำคัญในสายตาของคนที่สำคัญกับเรา และครูคือคนสำคัญของนักเรียน
จากการศึกษา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนมีผลโดยตรงต่อสมาธิและการตั้งใจเรียนของนักเรียน นักเรียนที่ไม่ชอบ หรือรู้สึกไม่ไว้วางใจครูผู้สอนวิชาไหน มักไม่ตั้งใจเรียนในวิชานั้น พาลไปถึงไม่ยอมทำการบ้าน หรือโดดเรียนไปเลยก็มี
ถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังนึกถึงพฤติกรรมต่อต้านของนักเรียนวัยมัธยม พวกเขาจะแสดงสีหน้า หรือท่าทางให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อรู้สึกไม่พอใจ แต่จากการสำรวจกลับพบว่า พฤติกรรมขัดขืน ไม่ให้ความร่วมมือในชั้นเรียนเกิดขึ้นในวัยอนุบาลและประถมศึกษามากกว่า โดยมักแสดงออกด้วยการร้องไห้ หรือเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีอื่น
แสดงออกอย่างไรให้เด็กรู้ว่าครูแคร์ ความคาดหวังมีได้ แต่ต้องมาพร้อมกับการให้ความหวัง และสร้างกำลังใจ ครูต้องเชื่อมั่นใจศักยภาพของเด็กทุกคน ไม่เฉพาะแค่คนที่โดดเด่นหรือคนที่เก่ง เพราะความเชื่อมั่นของครูจะสร้างแรงบันดาลใจ และส่งผลต่อความสำเร็จของเด็ก ให้โอกาสนักเรียนได้แสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การถามตอบ ในชั้นเรียน ให้เวลานักเรียนแต่ละคนได้คิดและแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่เจาะจงเฉพาะเด็กเก่ง หากนักเรียนตอบไม่ได้ ครูให้คำใบ้เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้คิดแล้วตอบตามความเข้าใจของตัวเอง ไม่มีผิดไม่มีถูก เป็นต้น
เติมเต็มความภาคภูมิใจ
พื้นที่นำเสนอผลงานที่นักเรียนลงมือทำด้วยตัวเอง เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนและมีคุณค่า สิ่งที่ต้องระวังคือ ครูไม่ควรเอาคะแนนมาเป็นตัวตัดสินหรือเลือกผลงานขึ้นนำเสนอจากคะแนน ลืมคะแนนไปเลย แล้วเปิดพื้นที่ให้ผลงานของนักเรียนได้อวดโฉม สื่อสารความแคร์อย่างตรงไปตรงมา
การถามว่า วันนี้สบายดีไหม? เมื่อนักเรียนเดินผ่านหรือกำลังผ่านประตูห้องเรียนเข้ามา คำถามง่ายๆ สั้นๆ ก็สร้างความชื่นใจและประทับใจให้นักเรียนได้ พวกเขาจะรู้สึกว่าครูสนใจชีวิตของพวกเขา รวมถึงการรับฟังเมื่อนักเรียนถามหรือต้องการปรึกษา และให้กำลังใจเมื่อเด็กอยู่ในภาวะที่กำลังเผชิญหน้ากับเรื่องสะเทือนใจ เช่น การสูญเสีย เป็นต้น
เด็กและเยาวชนต้องการความสนใจและเชื่อมั่นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู หรือแม้กระทั่งเพื่อน ด้วยเหตุนี้การแสดงออกด้วยความรักและความห่วงใย จะสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีอย่างแน่นแฟ้น หากครูสามารถสร้างสายใยที่ดีนี้ระหว่างครูกับนักเรียนได้ พวกเขาจะ ‘เชื่อและฟัง' ครูโดยไม่ขัดขืน ไม่แสดงพฤติกรรมต่อต้าน และไม่ก้าวร้าว เป็นวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกที่เป็นแรงจูงใจให้เด็กรักการเรียนรู้ นำมาสู่การพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ตามแบบฉบับของตัวเองไปได้ตลอดชีวิต
สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี จะช่วยสร้างและเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง (confidence and competence) ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ เด็กจะกลายเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง (self-discipline) ชุมชน และสังคมเครดิตแหล่งข้อมูล : aksorn