จี้ รบ.เร่งดัน พ.ร.บ.การศึกษา


จี้ รบ.เร่งดัน พ.ร.บ.การศึกษา

จี้ รบ.เร่งดัน พ.ร.บ.การศึกษาฯ แนะสังคายนาโครงสร้าง-ระบบ แก้ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์

       เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สภาผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคเปิดพื้นที่เวทีสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ในเวที "ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง" ถือเป็นเวทีสาธารณะครั้งแรกที่จัดโดยภาคประชาสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ นั้นเงียบมาก เพราะ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวร่างในกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ประชาพิจารณ์รับฟังเฉพาะกลุ่มคนที่เห็นด้วย แต่คนที่เห็นต่าง หรือคนที่เห็นปัญหาการศึกษามายาวนานแทบจะไม่มีโอกาสร่วมประชาพิจารณ์เลย

นายสมพงษ์กล่าวว่า มองว่าการพัฒราของ พ.ร.บ.นี้คืบหน้าเพียง 30% เท่านั้น แต่ในขณะที่ปัญหาวิกฤตทางการศึกษาหนักและรุนแรงขึ้นตามลำดับ และปัจจุบันพบว่ารัฐบาลจะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2564 ที่ตกไปในรัฐบาลที่แล้วกลับมาใช้ และยึดเป็นฉบับหลัก เป็นสารตั้งต้นและมีกฎหมายอีก 5 ฉบับจากทางกรรมาธิการ จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านมาพิจารณาประกอบ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำเข้ารัฐสภาในการประชุมสมัยหน้า

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ทำให้เริ่มเห็นการกลับมาของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่หายไป 1 ปีเศษ มองว่าต้องรื้อฟื้นเยอะมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "รัฐราชการจัดการศึกษา" ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เพราะปัจจุบันมีการเติบใหญ่ ขยายอาณาจักรจนยากต่อการทำให้มันเล็กลง เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการศึกษาแบบกึ่งเผด็จการเข้ามาและใช้ระบบราชการเป็นแกนหลักในการบริหารประเทศ จึงเห็นการขยายตัวของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) นอกจากนี้ มีการขยายตัวในแง่ของภาค จำนวนข้าราชการ ทำให้กลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ แต่เราไม่แก้ไขเรื่องโครงสร้างและเรื่องระบบ กลายเป็นหน่วยการจัดการศึกษาที่รวมศูนย์ ล้าหลัง และใช้ทรัพยากรมาก แต่คุณภาพที่ได้ต่ำ ขณะนี้รัฐราชการรวมศูนย์ที่ใหญ่โต อุ้ยอ้าย กำลังกินทั้งประเทศ เป็นปัญหาที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องแตะอย่างรุนแรง แต่กลับพบว่าร่างดังกล่าวไปแตะพัฒนาการเด็ก ทักษะ สมรรถนะของเด็ก สาเหตุที่ไม่กล้าทำเรื่องโครงสร้างกับระบบเนื่องจากกลัวการต่อต้าน


"มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งอ่อน และเจือจางกับการแก้ไขปัญหาที่ขณะนี้วิกฤตจนเราแทบจะไม่มีพื้นที่ในการปฏิรูป นอกจากที่เราพูดถึงการกระจายอำนาจ แต่กลับมีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาก ก็ยิ่งทำให้ระบบราชการรวมการตัดสินใจ มากกว่าการกระจายอำนาจ ทั้งนี้ มักจะมีการพูดว่า ‘กระจายอำนาจสู่สถานศึกษา' แต่เป็นแค่ตัวอักษร ในทางปฏิบัติแทบไม่มีการบังคับใช้เลย นอกจากนี้ เรื่องทรัพยากรและงบประมาณก็มีการพูดถึงที่ต่ำมากใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งที่งบประมาณเราลงทุนสูง มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทน 70-80% เห็นมีแต่การตั้งหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น มีทั้งแท่ง ทั้งกรม ทั้งภาค ทั้งจังหวัด คำถามที่ตามมาคือ จะมีการรวมศูนย์เทอะทะกันไปถึงไหน ทำให้เห็นว่าแนวความคิดที่ทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กลง ทำหน้าที่เพียงผู้กำหนดนโยบาย ติดตามและสนับสนุน เป็นเพียงลายลักษณ์อักษรเท่านั้น จึงมองว่ากฎหมายฉบับนี้อ่อน และยิ่งทำให้ระบบราชการขยายตัวง่ายและรวดเร็วขึ้น" นายสมพงษ์กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า พบว่าการทำประชาพิจารณ์ไม่มีโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนก็เลือกเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ ขณะที่กฎหมายรอง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กฎระเบียบ กฎกระทรวง ข้อบังคับต่างๆ ยิ่งหนัก ยิ่งติดกรอบ ติดระเบียบ ทำให้การระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมเป็นศูนย์ ภายใต้สิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้าไม่สังคายนา หรือไม่ยกเครื่อง แทบจะไม่มีทางที่จะตัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และแตกต่าง นอกจากนี้ มีเรื่องที่พูดถึงแต่ไม่ได้รับการแก้ไขคือระบบหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ เหมือนแผ่นเสียงตกร่องที่พูดกันอยู่อย่างนั้น แต่สุดท้ายการจัดการเรียนการสอนก็เน้นเนื้อหารายวิชา เน้นการวัดผลแบบที่เน้นการท่องจำ

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ เรื่องครู ที่กลายเป็นกลุ่มวิขาชีพ ที่ระบบการผลิต การบรรจุ การสอบ การโยกย้าย ทำวิทยฐานะนั้น เปรียบครูเป็นเครื่องจักรที่เข้ามาเปลี่ยนพื้นที่การทำงาน ไม่ลงไปสู่การทำงานที่แท้จริงของวิชาชีพตนเอง ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ตัวเด็ก คุณภาพเด็กในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กแทบจะไม่มีครูสอน ต้องรอการบรรจุครู 6-8 เดือนในทุกๆปี สภาพของครูในปัจจุบันเงินเดือน วิทยฐานะดี แต่ในแง่ของการทำงานในวิชาชีพนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดภาระเรื่องการอยู่เวรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ มองว่าระบบการผลิต ระบบฝึกหัด การโยกย้ายการทำวิทยฐานะ ต้องรื้อทั้งโครงสร้างและระบบ

"การปฏิรูปการศึกษาโดยใช้กฎหมายที่ตกไปจะเริ่มตกยุค ที่สำคัญกฎหมายรองทั้ง 5-6 ฉบับก็ยึดรากฐานของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็นฐานต่อยอด ซึ่งบางมาตราดี แต่ถ้ายังยึดและเอามาต่อยอดใหม่นั้นอันตราย ต้องเริ่มต้นใหม่ว่าตัวนิติปัญญาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คืออะไร โครงสร้างและระบบจะแก้ยังไงให้มันเล็กลง กระจายอำนาจ สิทธิและโอกาสทางการศึกษาเป็นอย่างไร การสร้างผลเมืองยุคใหม่ควรเริ่มต้องที่ระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และสามารถเด็กพัฒนาศักภาพตนเองได้อย่างเต็มที่ และต้องกล้าตัดสินใจเรื่องทรัพยากรการศึกษา ที่ต้องยึดผู้เรียน และโรงเรียน ไม่ใช่เป็นการเจือจางจากส่วนกลางลงไป จนเหลือถึงผู้เรียนเพียง 5% เหมือนในปัจจุบัน" นายสมพงษ์กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวว่า ตนกังวลเพราะขณะนี้กฎหมายช้ามาก ทั้งที่เราพูดตลอดว่าการศึกษาต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 10 ปีมาแล้วที่เราผิดสัญญา ตระบัดสัตย์กับการปฏิรูปการศึกษา และไม่ทำอะไร เราทำไมปล่อยการศึกษาให้เละเทะถึงขนาดนี้ ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง คิดว่ารัฐบาลต้องยกเครื่องการศึกษาไทยใหม่ เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้จบโดยเร็ว ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ต้องตอบโจทย์อนาคต ไม่ใช่ตอบโจทย์อดีต ตอนนี้เราล้าหลัง แต่ตกยุค มองว่าใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมอันตราย ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของประเทศ ตนมองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่โดดเด่นและดีมาก แต่เป็นของฝ่ายค้าน เพราะคำนึงถึงประชาธิปไตย สิทธิของเด็ก เยาวชน แต่แทบจะไม่ได้รับการพิจารณา ควรมาว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวต้องไม่มีพรรคฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน แต่ควรร่วมมือเพื่อเป้าหมายของประเทศ เมื่อร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาแล้ว และอยู่ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ควรพิจารณาให้ดี และไม่ควรโยงการเมือง เข้ากับกลุ่มผลประโยชน์ เพราะจะทำให้การศึกษาของเราจะอยู่ภายใต้กลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น ผลประโยชน์ไม่ได้ลงไปสู่ตัวเด็ก เด็กแทบไม่มีส่วนร่วมใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งที่ในหลายประเทศกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวขน ต้องผ่านสภาเด็ก สภานักเรียน สภานิสิตนักศึกษา แต่ประเทศไทยกลับร่างโดยนักการเมืองหรือคนที่เกี่ยวข้อง โดยโยงการศึกษากับการเมือง และกลุ่มผู้มีผลประโยชน์เข้าด้วยกัน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์