ดีเดย์ 1 ส.ค. กยศ.เปิดเช็กยอดหนี้ใหม่


ดีเดย์ 1 ส.ค. กยศ.เปิดเช็กยอดหนี้ใหม่

ดีเดย์ 1 ส.ค. กยศ.เปิดเช็กยอดหนี้ใหม่ 2.98 ล้านรายได้ประโยชน์ 1.77 แสนคน ได้เงินคืน

 กยศ.เปิดเช็กยอดหนี้ใหม่ 1 ส.ค.นี้ ชวนลูกหนี้ 2.98 ล้านราย ทำสัญญาใหม่ ปลดภาระคนค้ำประกัน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ก.ย.ศ.ได้มีการคำนวณยอดหนี้ใหม่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้แก่ผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 3.65 ล้านบัญชีเสร็จแล้ว โดยมีผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์กว่า 2.98 ล้านราย ภาระหนี้ลดลง 5.63 หมื่นล้านบาท โดยผู้กู้ยืมส่วนใหญ่มียอดหนี้ลดลง และมีผู้กู้ยืมที่มียอดชำระหนี้ครบถ้วน และสามารถปิดบัญชีได้ จำนวน 1.77 แสนราย โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่หน้าเว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

"ขอให้ลูกหนี้ ก.ย.ศ.ทุกรายเข้ามาทำการตรวจสอบการคำนวณหนี้ใหม่ และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ หากลูกหนี้คนไหนมีการทำสัญญากู้ยืม แบบมีคนค้ำประกัน ถ้าได้ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ คนที่ค้ำประกันก็จะหลุดพ้นภาระการค้ำประกันทันที นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้ที่หมดภาระหนี้แล้ว และไม่ต้องทำการหักค่างวดการเงินเดือน 1.8 หมื่นราย จากที่หักเงินเดือนอยู่กว่า 1.2 ล้านราย รวมทั้งมีลูกหนี้ที่ชำระเกินอีก 1.77 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 2,104 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้ต้องแจ้งความประสงค์ขอรับเงิน โดยเริ่มคือได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป"

นายลวรณ กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้การปรับแก้กฎหมาย กยศ.ใหม่ จะเป็นผลดีทำให้ลูกหนี้มีภาระค่างวดลดลง แต่ก็มีผลกระทบเรื่องของการเม็ดเงินหมุนเวียนภายใน กยศ.ด้วยเช่นกัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 นั้น จะเป็นปีแรกที่กยศ. กลับมาของงบประมาณจากรัฐบาล หลังจากที่ไม่ได้ขอมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้รับจัดสรรวงเงินจากสำนักงบประมาณราว 8 พันล้านบาท

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกยศ. กล่าวว่า สำหรับการคำนวณยอดหนี้ใหม่ข้างต้นเป็นการคำนวณหนี้โดยไม่ใช้ระบบ "กยศ. Connect" ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยได้นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และคิดเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี จากเดิม 7.5% ต่อปี

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า รวมถึงมีมาตรการชะลอการฟ้อง และบังคับคดี สำหรับผู้ที่ผิดนัดชำระเกินกำหนด ซึ่ง กยศ.ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ชะลอการฟ้องคดี 2.62 แสนราย เป็นเงิน 2.61 หมื่นบาท งดการบังคับคดี 1.6 แสนราย เป็นเงิน 1.44 หมื่นล้านบาท ขอขยายระยะเวลาบังคับคดี 1.75 แสนราย เป็นเงิน 2.35 หมื่นล้านบาท ของดการขายทอดตลาก 1.78 แสนราย เป็นเงิน 4.15 หมื่นล้านบาท และมีหนังสือถึงสำนักงานทนายความให้งดบังคับคดี 391 แห่ง ขณะที่ ยอดการผิดนัดชำระปัจจุบันอยู่ที่ 39% ของลูกหนี้ทั้งหมดในกยศ. คิดเป็น 2.1 ล้านราย เป็นมูลหนี้ 9.6 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า ขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้ลดลง 8% ซึ่งมองว่าเป็นผลกระทบชั่วคราว หากมีการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ทุกคนแล้ว เชื่อว่าลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์