แนวคิด 5 ข้อ ที่ช่วยพัฒนานิสัยเชิงบวก
1. คุณคือนิสัยของคุณเอง
การวิจัยชี้ให้เห็นว่า 40-50% ของการกระทำทั้งหมดของเราเกิดขึ้นจากนิสัย แต่ละคนมีนิสัยในการตื่นนอน นิสัยในการกินอาหาร รวมถึงการนอนแตกต่างกัน ดังนั้นชีวิตของเราจึงเกิดขึ้นจากนิสัย กระตุ้นนักเรียนให้เข้าใจว่านิสัยของพวกเขากำหนดรูปแบบของตัวตน และสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเป็น James Clear ผู้เขียนหนังสือ Atomic Habits ได้แนะนำไว้ว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนตัวตนคือการเปลี่ยนสิ่งที่เราทำ การสร้างนิสัยที่ดีอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้ในระยะแรกจะเป็นสิ่งที่เล็ก และไม่สำคัญ แต่หากเราทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถสร้างผลสำเร็จที่น่าประทับใจ และสมหวังขึ้นมาได้
2. สร้างนิสัยอย่างไร
แม้ไม่มีเรื่องนี้ในหลักสูตรใด ๆ ก็ตาม แต่ทุกคนควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "วงจรนิสัย"ของ James Clear โดยการเปลี่ยนนิสัยไม่ว่าจะเป็นนิสัยที่ดี หรือไม่ดีนั้นมีกระบวนการเหมือนกัน ดังนี้ Cue > Craving > Response > Reward
The habit loop by James Clear Cue > Craving > Response > Reward
กระบวนการที่ทำให้เกิดนิสัยมีอยู่ 4 ขั้น คือ
1.สิ่งเร้า หรือสิ่งกระตุ้น (Cue)
2.ความอยาก และความกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งนั้น (Craving)
3.การตอบสนอง (Response)
4.ผลที่ได้รับ (Reward)ยกตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพกระบวนการนี้มากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อนักเรียนกลับจากโรงเรียนผ่านร้านค้าขายขนม (Cue) พวกเขาอาจพบว่าโดปามีน (สารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในอารมณ์ แรงจูงใจ และความสุข) พุ่งสูงขึ้นเมื่อพวกเขาเริ่มมองหาขนมทาน (Craving) จากนั้นนักเรียนได้รับประทานขนม ดื่มด่ำไปกับรสชาติ ของรสเค็ม และกรุบกรอบ (Response) ด้วยความพึงพอใจ (Reward)
นักวิจัยยังค้นพบอีกว่ามีแนวโน้มที่ "นิสัย" นั้นจะยังคงอยู่ แม้ว่าเราจะไม่เห็นคุณค่าของรางวัลเท่าครั้งก่อน (หรือแม้เมื่อไม่มีรางวัลอีกต่อไป) หลังจากฝึกฝนการสร้างนิสัยอย่างสม่ำเสมอ นิสัยเหล่านี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเราในที่สุด
3. สิ่งกระตุ้น (Cue) ที่ต่อเนื่อง เป็นกุญแจที่สำคัญในการสร้างนิสัย
สิ่งสำคัญที่ควรให้นักเรียนเรียนรู้ และฝึกฝน คือการสร้าง Cue X เพื่อ Action Y ตัวอย่างเช่น นักเรียนได้ตัดสินใจว่าต้องการเรียนเล่นกีต้าร์ (action) หลังจากที่ได้ทำการบ้าน (cue) กุญแจสำคัญในการสร้างนิสัย หรือกิจวัตรใหม่นี้ คือให้นักเรียน "ทำ" กิจกรรมนี้ "ซ้ำ" ทุกวันทันทีที่เรียนจบ สิ่งกระตุ้นที่ต่อเนื่องอาจรวมถึงการตื่นนอน หรือเข้านอน การแปรงฟัน การรับประทานอาหาร ไม่ว่าการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำจะก่อให้เกิดเป็นนิสัยได้ในที่สุด การกระทำซ้ำอย่างต่อเนื่องนั้นจำเป็นต่อการจัดระเบียบพื้นที่ทางจิตใจ เมื่อเวลาผ่านไป การทำซ้ำ ๆ จะจัดระเบียบสมองของเราใหม่ และกลายเป็นรางวัลของสมองเอง
4.4 วิธี "การโกงนิสัย"
4.1 SJ Scott เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า Habit Stacking โดยมีแนวคิด คือเราควรเชื่อมโยงนิสัยที่ยากกับนิสัยที่ง่าย ตัวอย่างเช่น กระตุ้นนักเรียนให้ทำงานบ้าน (นิสัยที่ยาก) ในขณะที่ฟังเพลง (นิสัยที่ง่าย)
4.2 ใช้ประโยชน์จากพลังแห่งความมุ่งมั่น ความจริงก็คือ พวกเราทุกคนได้ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องแบ่งปัน "แผนพัฒนานิสัยเชิงบวก" ของเรากับคนที่จะรับผิดชอบเรา เช่น เพื่อน ผู้ปกครอง หรือครู การให้คำมั่นสัญญากับคนที่เรารู้จัก และไว้วางใจมักเป็นเชื้อเพลิงที่เราต้องการเพื่อพัฒนานิสัยเชิงบวก
4.3 ค้นพบแนวโน้มของนิสัยที่เรามี แนวคิดนี้พัฒนาโดยนักเขียน Gretchen Rubin คือการที่เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่า เราตอบสนองต่อการคาดหวังภายใน และภายนอกอย่างไร ตัวอย่างเช่น ขณะที่บางคน "จำเป็น" ต้องมีนิสัยที่มีความรับผิดชอบ แต่บางคนอาจจะต้องทำความเข้าใจเหตุผลที่ทำให้นิสัยเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะรู้สึกกระตือรือร้นที่จะสร้างนิสัยนั้น
4.4 เมื่อพูดถึงการ สร้างนิสัย นักเรียนทุกคนควรเรียนรู้เกี่ยวกับพลังของการยืนยันเชิงบวก การหักล้างคำพูดเชิงลบของเราด้วยคำพูดเชิงบวกคือ "การโกงนิสัย" ที่ได้ผล ตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถสร้างนิสัยเชิงบวกในการพูดซ้ำ ๆ กับตัวเองว่า "ฉันเข้าใจแล้ว...ฉันทำได้"
5. การกำหนดเป้าหมาย และความมุ่งมั่นอาจยังไม่เพียงพอวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่กำลังทำลายความเชื่อผิด ๆ ที่มีมายาวนานว่า การตั้งเป้าหมาย และการควบคุมตนเอง คือจุดสูงสุดของการสร้างนิสัยเชิงบวก แท้จริง
ความตั้งใจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้
หากนักเรียนอยากประสบความสำเร็จในการพัฒนานิสัยเชิงบวกตามเป้าหมายระยะยาวก็จำเป็นที่จะต้อง "วางแผน" ผลวิจัยชัดเจนว่า "การวางแผนเป็นกุญแจสำคัญ" ที่จะทำให้พัฒนานิสัยเชิงบวกได้ ตามคำกล่าวว่า "การไม่วางแผน คือการวางแผนให้ล้มเหลว"
สุดท้าย การเปลี่ยนนิสัย คือการที่ดีขึ้นทีละ 1% ในทุก ๆ วัน เหมือนที่ Aristotle ได้เขียนไว้ว่า "We are what we repeatedly do. Excellence, then, is not an act, but a habit." แปลว่า "เราเป็นสิ่งที่เราทำซ้ำ ๆ ความเป็นเลิศจึงไม่ใช่การกระทำ แต่เป็นนิสัย" ดังนั้นในทุก ๆ วัน ตัวนักเรียนเอง ครู รวมถึงพ่อแม่จึงต้องทำงานร่วมกัน การพัฒนานิสัยเชิงบวกให้กับนักเรียนจึงจะประสบผลสำเร็จ