ปลูกฝังเด็กกับทักษะการเรียนรู้สู่อนาคต
เรียนรู้ปัจจุบันกับความจริงที่เกิดขึ้น
ก่อนจะเรียนรู้ว่าควรมีทักษะชีวิตในด้านใดเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคต ควรบอกเล่าถึงความเป็นจริงในปัจจุบันให้เขาได้เห็นเพื่อแนะแนวทางการดำเนินชีวิต เมื่อโลกมีความซับซ้อนถูกสิ่งต่าง ๆ ครอบคลุมไปกับปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ เด็กควรเข้าใจและเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง บอกเล่าการสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ค่านิยม ความเป็นอยู่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะเป็นการเรียนรู้ให้เขาได้มองเห็นถึงความจริงและทัศนคติต่อความคิดที่เขาจะได้เลือกเส้นทางการใช้ชีวิตของตนเอง ซึ่งสิ่งที่เราควรให้เด็กได้เรียนรู้มีดังนี้
Urbaniation การเติบโตของสังคมเมือง
การเติบโตของเศรษฐกิจและการขยายตัวของจำนวนประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาจากชนบทเข้าสู่ความเป็นเมือง เราอาจเริ่มสอนจากสิ่งใกล้ตัวที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การเปลี่ยนแปลงโดยรอบของที่อยู่อาศัย บ้าน ตึกสูง ร้านค้า ถนน ฯลฯ
Economic Recession สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย
บอกเล่าให้ได้รู้ว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น การหางานทำที่ยากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ประเทศกำลังเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพราะอะไร สิ่งเหล่านี้พวกเขาควรได้เรียนรู้และเตรียมรับมือในอนาคตถ้าเขาได้เจอ
Environmental Crisis วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม
ทุกวันนี้เราต่างรู้ดีว่าโลกของธรรมชาติกำลังนับถอยหลัง เด็กควรได้รับการปลูกฝังเรื่องการรักษาและคงอยู่ของธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของการดำเนินชีวิตในอนาคต
Demographic Change การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร
ในปัจจุบันประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มักเป็นวัยทำงานที่เข้าสู่วัยเกษียณ และจำนวนผู้สูงอายุที่ว่างงานรับเงินเดือนสวัสดิการจากทางภาครัฐ สิ่งนี้พวกเขาควรรับรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในสภาวะสังคมแบบใด เมื่อถึงจุดหนึ่งในช่วงชีวิตเขาอาจวางแผนการใช้ชีวิตบั้นปลายได้ดี
Advance Technology เทคโนโลยีขั้นสูง
วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในโลกยุคใหม่ได้เปลี่ยนไป ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีคือความก้าวหน้าของมนุษย์ ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการสอนของครูก็ตาม พวกเขาควรมีทักษะการเรียนรู้ในด้านนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อฝึกฝนต่อยอดนำไปใช้ได้
ปลูกฝังทักษะด้านใดเพื่อเตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตในอนาคต
การเจริญเติบโตของเด็กตาม Generation ในปัจจุบัน การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นทักษะการใช้ชีวิตจึงสำคัญตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ทั้ง 10 ทักษะ
ทักษะการตัดสินใจ
ตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างมีระบบ สรุปประเด็นปัญหาและจัดการกับความรู้สึกของตนเองโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก พิจารณาถึงผลดีและผลเสียเพื่อเข้าสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ
ทักษะการแก้ปัญหา
จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ กำหนดเป้าหมายที่วางไว้ รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาให้ได้มากที่สุดพร้อมวิเคราะห์ข้อมูลหาวิธีแก้ไขที่เป็นไป ได้ลองประเมินผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นและปรับวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเจออุปสรรค
ทักษะการคิดสร้างสรรค์
เรียนรู้ที่จะทำแผนความคิดออกมาเป็นภาพในจินตนาการ ฝึกให้คิดนอกกรอบออกจากความคิดเดิม ๆ และเริ่มลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ
ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
การคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และประเมินปัญหาหรือสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ฝึกการตั้งคำถามได้วิเคราะห์ด้วยตนเอง รู้จักคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อวางแผนกับการเกิดปัญหาในอนาคต
ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
เด็กควรเข้าใจว่าการสื่อสารคืออะไร กระบวนการถ่ายทอดของการรับสารและส่งสารที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นแสดงทัศนคติหรือมุมมองที่เป็นประโยชน์ได้
ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันสามารถรักษาสัมพันธภาพไว้ได้ยืนยาว ซึ่งปลูกฝังพฤติกรรมได้ง่าย ๆ อาจสอนเรื่องการใส่ใจผู้อื่นให้รู้จักแบ่งปันเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่ดี
ทักษะการตระหนักรู้ในตน
ให้พวกเขาได้ค้นหาคำตอบกับตนเอง รู้ข้อดีข้อด้อยของตนเอง รู้ความต้องการและสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง เมื่อเขารู้แล้วสามารถเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะอื่น ๆ และยอมรับข้อด้อยพร้อมที่จะพัฒนา
ทักษะการเข้าใจผู้อื่น
ให้เรียนรู้เปิดประสบการณ์กับคนวัยต่าง ๆ หรือคนที่แตกต่างไม่ว่าจะ เพศ วัย ระดับการศึกษา ศาสนา หรือความเชื่อ ให้พวกเขาได้ลองแลกเปลี่ยนทัศนคติ เปิดใจรับฟังความต้องการของผู้อื่นบ้าง
ทักษะการจัดการกับอารมณ์
อย่าปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือทุกสิ่ง นั่นคือผลลบในการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน อาจส่งผลกระทบต่อระบบจิตใจและร่างกาย การเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ ฝึกให้เขาได้หายใจลึก ๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอุปสรรคต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญฝึกให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน
ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอ เครียดได้แต่ไม่ยึดติดอยู่กับปัญหานาน สอนให้เขาเรียนรู้การจัดอันดับความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและวางแผนเพื่อขจัดความเครียดนั้นออกไปพร้อมเผชิญหน้ากับเหตุการณ์